• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส.​ ลุยตรวจ 8 ฐานวัดกำลังใจ-กาย​ ฝึก ​”เสือไฟ” รุ่นแรก ก่อนส่งประจำการ​ 15 ศูนย์ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงไฟป่าทั่วไทย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า หรือ “เสือไฟ” รุ่นแรก จำนวน 207 นาย ที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการควบคุมไฟป่าภาคกลาง จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 โดยได้สังเกตการณ์การฝึกทั้ง 8 ฐานที่จำลองสถานการณ์จริงในการดับไฟป่า พร้อมให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกอบรม​

นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กล่าวว่า​ “เสือไฟ” หน่วยพิเศษที่มีคำขวัญ “รวดเร็ว แข็งแกร่ง หนักแน่น เฉียบแหลม” ต้องผ่านการทดสอบทั้งร่างกายและจิตใจผ่าน 8 ฐานวัดใจ ที่จำลองสถานการณ์อันตรายในการดับไฟป่า

เริ่มที่ฐานที่ 1 “หอโรยตัว” ทดสอบความกล้าหาญและทักษะการโรยตัวในแนวดิ่ง เตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ในการลงพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าถึงได้ ผู้เข้าฝึกต้องเอาชนะความกลัวความสูงและฝึกเทคนิคการโรยตัวอย่างปลอดภัย

ฐานที่ 2 “กำแพง 10 ฟุต” จำลองสถานการณ์การเผชิญสิ่งกีดขวางสูงในพื้นที่จำกัด ฝึกการปีนป่าย การใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ และการทำงานเป็นทีมเพื่อข้ามผ่านอุปสรรค

ฐานที่ 3 “ชะนีครวญ” เน้นเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อส่วนบน ทั้งข้อมือ แขน หน้าอก หน้าท้อง และหลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปีนป่าย แบกอุปกรณ์ และดับไฟในพื้นที่สูงชัน

ฐานที่ 4 “ข้ามขอน” ฝึกความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวางในป่าภูเขา เรียนรู้เทคนิคการก้าวข้าม การทรงตัว และการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วแต่ปลอดภัยในพื้นที่ทุรกันดาร

ฐานที่ 5 “หลุมนรก” ฐานทดสอบกำลังใจที่ท้าทายที่สุด ให้ผู้เข้าฝึกเผชิญหน้ากับเปลวเพลิงจริง เพื่อสร้างประสบการณ์และความเคยชินกับความร้อน ควัน และการตัดสินใจในภาวะวิกฤต โดยไม่ตื่นตระหนกเมื่อต้องเจอสถานการณ์จริง

ฐานที่ 6 “เสานรก” ฝึกทักษะการเอาตัวรอดเมื่อถูกไฟล้อม โดยต้องเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวางที่มีไฟติดอยู่ เรียนรู้การประเมินสถานการณ์ การหาเส้นทางหลบหนี และการป้องกันตัวจากความร้อนและควันไฟ

ฐานที่ 7 “โหนเชือกข้ามคลอง” ทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายในการข้ามอุปสรรคทางธรรมชาติ จำลองสถานการณ์การใช้เถาวัลย์หรือเชือกในการข้ามลำธาร หุบเขา เพื่อเข้าถึงจุดเกิดไฟป่าในพื้นที่ทุรกันดาร

ฐานที่ 8 “ล้อนรก” ฐานสุดท้ายที่ทดสอบทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ฝึกการเคลื่อนย้ายเพื่อนร่วมงานออกจากพื้นที่อันตราย โดยต้องรักษาความปลอดภัยทั้งของผู้ช่วยเหลือและผู้บาดเจ็บ

ทั้งนี้​ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา​ ผู้เข้าฝึกได้ร่วมปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จำลองสถานการณ์บัญชาการเหตุการณ์ การลาดตระเวนป้องกันไฟป่า และการทำแนวกันไฟ เพื่อเตรียมพร้อมการทำงานในสถานการณ์จริง​ สำหรับการฝึกอบรมนี้จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 13 มกราคม 2568 นี้ จะสร้างนักรบไฟป่ามืออาชีพที่พร้อมเสียสละเพื่อปกป้องผืนป่าไทย โดยพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง

นายนฤพนธ์​ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ ภารกิจดับไฟป่าไม่ใช่แค่การดับไฟธรรมดา แต่เป็นการต่อสู้กับความเสี่ยงต่อชีวิตในป่าลึก ที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ บางครั้งต้องเดินเท้าหลายชั่วโมงเพื่อเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ท่ามกลางอากาศร้อนจัด ควันไฟหนาแน่น และความเหนื่อยล้าที่สะสม​ โดย “เสือไฟ” เป็นหน่วยขึ้นตรงกับส่วนควบคุมไฟป่า สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า หลังฝึกเสร็จจะกระจายกำลังไปประจำการใน 15 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรง โดยสามารถเคลื่อนกำลังสนับสนุนสถานีควบคุมไฟป่าต่างๆ ได้ทั่วประเทศในการปกป้องผืนป่าไทยจากภัยไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด