วันที่ 6 มกราคม 256 อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายที่จะกำหนดพื้นที่ที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นที่น่าสนใจให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย อันได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพื้นที่คุ้มครอง ให้ได้ร้อยละ 25 ของประเทศ โดยได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0912.5/4300 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เรื่อง ให้รายงานข้อมูลการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แจ้งให้อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ดำเนินการจัดทำข้อมูลการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้นำเสนอพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกกฎหมาย ต่อคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้จังหวัดจันทบุรี ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้ผนวกขยายพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เพิ่มเติม
สำหรับพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ มีบริเวณป่าเขาสอยดาว ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ 5,403 ไร่ มีความจำเป็นและความเหมาะสมที่จะขยายเขตเป็นอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งเป็นผืนป่าดิบชื้นที่มีความหลายหลายทางชีวภาพสูงเป็นเส้นทางหากินของสัตว์ป่าที่สามารถหากินได้ทั่วทั้งพื้นที่ และยังเป็นป่าที่มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ไม่มีสภาพถูกแผ้วถางหรือมีร่องรอยการทำประโยชน์มาก่อน มีทรัพยากรธรรมชาติที่โดดเด่นของพื้นที่ รวมถึงมีการสำรวจพบพันธุ์ไม้ที่อยู่ในบัญชีสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered : CR) คือ กฤษณา และพันธุ์ไม้อื่น ๆ ได้แก่ ตะเคียนทอง ยางแดง กฤษณา จิกดง พะนอง กระบาก อินทรี ดีหมี (ก้านเหลือง) ขี้หนอนควาย จันทน์แดง เฉียงพร้า เต่าร้าง หมากงาช้าง กล้วยไม้เหลืองจันทบูร เป็นต้น และจากการสำรวจข้อมูลพื้นที่เป้าหมาย โดยวิธีการเดินสำรวจซึ่งกำหนดเส้นสำรวจในแนวเหนือ – ใต้ ระยะห่างระหว่างแนว 1.5 กิโลเมตร พบสัตว์ป่า โดยที่เห็นตัวหรือซาก ได้แก่ นกเงือก ปลาพลวง กระทิง วัวแดง และได้ยินเสียง พบร่องรอยหรือมูล ได้แก่ ช้าง กระทิง วัวแดง หมีควาย หมีขอ เลียงผา กวาง เก้ง หมูป่า หมูหริ่ง ชะมด อีเห็น ลิ่น เม่น อัน นกเงือก ไก่ป่า เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่โดยรอบของพื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏนี้ ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกจะติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ และทิศตะวันตกติดที่ทำกินของราษฎรในท้องที่ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนผลไม้ หากไม่มีการผนวกพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ จะไม่สามามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดได้ในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และล่าสัตว์ในพื้นพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลงสูญเสียความสมบูรณ์และความหลากหลายทางธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=38548 ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2567 – 9 มกราคม 2568