ตามนโยบายเร่งด่วนของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่สั่งการให้เร่งแก้ไขวิกฤตพะยูนเกยตื้นให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเพิ่มแหล่งอาหารให้พะยูนในธรรมชาติ และการดูแลพะยูนที่ผอมเป็นพิเศษ
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ได้ลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมของพะยูนในพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลและแนวเชื่อมต่อของพะยูนผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า จำนวนพะยูนในพื้นที่มีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยสาเหตุสำคัญอาจเกิดจากการลดลงของแหล่งอาหารหลักอย่างหญ้าทะเล ส่งผลให้พะยูนต้องอพยพย้ายถิ่นไปยังพื้นที่อื่นเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 ได้ดำเนินการสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด พร้อมทั้งริเริ่มโครงการทดลองแปลงให้อาหารพะยูนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยทดลองปลูกทั้งสาหร่ายผมนาง และมีแผนขยายการทดลองไปยังพืชชนิดอื่น เช่น ผักกวางตุ้ง และผักกาดขาว เพื่อเป็นแหล่งอาหารเสริมให้กับพะยูน
เบืัองต้นในระยะแรกของการทดลองยังไม่พบพะยูนเข้ามากินสาหร่ายผมนางในพื้นที่ แต่ทีมวิจัยยังคาดหวังว่าการทดลองนี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารของพะยูนได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักมีจำนวนลดน้อยลง ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ จะเร่งขยายพื้นที่การทดลองและพัฒนาแนวทางการเสริมอาหารให้กับพะยูนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป