• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ติวเข้มหน่วยงานทั่วประเทศก่อนนำร่องออกหนังสือแสดงที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ 52 แห่ง เน้นย้ำการบริหารจัดการที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ตามหลักการคนอยู่กับป่า และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานมอบนโยบายแนวทางการบริหารจัดการที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมีนายนรินทร์ ประทวนชัย นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีฯ พร้อมด้วยนายวีระยุทธ วรรณเลิศกุล ผู้ตรวจราชการกรมฯ นายภูษิต หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 – 16 และสาขา ผู้อำนวยการส่วนที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าป่าอนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงนโยบายการบริหารจัดการที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ในปัจจุบัน และรับทราบสถานการณ์การแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ การจัดการชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวหน้าหน่วยงาน 4 ภาค ตลอดจนหารือถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ณ ห้องลีลาวดี 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อใช้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ตามหลักการคนอยู่กับป่า และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ โดยการมีส่วนร่วมของราษฎรผู้อาศัยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎร ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (26 มิ.ย. 2561) เรียบร้อยแล้ว และได้จัดทำแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้ง 224 ป่าอนุรักษ์ 4,024 หมู่บ้าน เนื้อที่ 4,273,726.24 ไร่ ส่งให้กรมการปกครองตรวจสอบรับรองแนวเขตการปกครองแล้วเสร็จ ครบทุกพื้นที่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยกรมการปกครองได้ตรวจสอบรับรองแล้ว จำนวน 42 ป่าอนุรักษ์ มีแนวเขตซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไข จำนวน 120 ป่าอนุรักษ์ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบรับรองจำนวน 52 ป่าอนุรักษ์
โดยปัจุบันได้ดำเนินการรังวัดและฝังหลักเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ โดยวิธีการรังวัดฝังหลักเขต และติดตั้งป้ายตามแนวเขตที่ได้จัดทำเป็นแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้ราษฎรรับทราบแนวเขต รวมถึงต้องจัดทำรายชื่อบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกิน พร้อมด้วยจำนวนที่ดินและแผนผังแปลงที่ดินไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในพื้นที่เป้าหมายซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะดำเนินการในพื้นที่ 42 ป่าอนุรักษ์เป็นพื้นที่นำร่องก่อน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะจัดทำหนังสือแสดงที่อยู่อาศัยหรือทำกินในในเขตป่าอนุรักษ์ (อส.12) และจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัย หรือทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ส่วนในพื้นที่ที่เหลืออีก 182 ป่าอนุรักษ์ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 จึงได้จัดประชุมครั้งนี้เพื่อผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกิดความรู้ความเข้าใจ และบริการจัดการที่ดินในเขต ป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิภาพต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด