• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความเห็นขยายอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการขยายอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่เตรียมการผนวกเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกรุงทั้งหมด 3 พื้นที่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 1,583.2668 ไร่ ได้แก่ บริเวณพื้นที่ป่าทับสมิง หมู่ที่ 11 ตำบลคลองพา และหมู่ที่ 21 ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 484.4960 ไร่ บริเวณพื้นที่ป่าไร่ยาว หมู่ที่ 13 ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 92.3168 ไร่ บริเวณพื้นที่ป่าคลองใส หมู่ที่ 8 ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 1,006.4540 ไร่

สำหรับการขยายเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความจำเป็นและความเหมาะสม เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบและเทือกเขาสลับชับซ้อนมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมีทั้งพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่าที่หายาก พรรณไม้ที่พบมีทั้งประเภทไม้ยืนต้นต้นขนาดใหญ่ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจ และน่าศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ มีปริมาณฝนตกชุกทำให้ครอบคลุมด้วยป่าดิบชื้น ทั้งนี้ ป่าทับสมิงยังเป็นที่ตั้งของที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ที่ กก 1 (ทับสมิง) ป่าไร่ยาวเป็นที่ตั้งของที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ที่ กก 3 (ไร่ยาว) และป่าคลองใสเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ซึ่งมีลำน้ำเหมาะแก่การล่องแก่ง ชมพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า และเล่นน้ำ ดังนั้นการผนวกเป็นพื้นที่อนุรักษ์จะสามารถอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของ พื้นที่ให้คงอยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญ ๆ เช่น สัตว์ป่า พืชพรรณ และลักษณะธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาวิจัยของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ หากไม่มีการผนวกพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ จะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างคร่งครัดได้ในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้มีการบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่า และล่าสัตว์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลง สูญเสียความสมบูรณ์และความหลากหลายทางธรรมชาติ พืชพรรณและสัตว์ป่าลดน้อยลง และการผนวกพื้นที่ยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 25 ของประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการขยายเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37410 ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด