• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ระดมสมองถอดบทเรียนแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ปี 2567 เผยสถานการณ์ดีขึ้น จุด Hotspot ลดลงกว่า 2 หมื่นจุด

วันที่ 11 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาการถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่ปฏิบัติงานด้านไฟป่าทั่วประเทศ เข้าร่วมจำนวน 150 คน รวมถึงการเสวนาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาไฟป่าจากบุคลากรภายนอก ผู้แทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการอิสระ ผู้นำชุมชน และผู้แทนจากเครือข่าย อส.อส. ณ ห้องประชุมโรงแรมซีบรีซ จอมเทียน รีสอร์ท อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
โดยที่ผ่านมา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแนวทางการดำเนินงานในส่วนของพื้นที่ป่า มุ่งเป้าการเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมาตรการป้องกันไฟป่าให้เน้นย้ำการตรึงพื้นที่ รวมถึงมุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (Single Command) ประกอบกับการใช้งบกลางในดำเนินการโครงการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการตั้งจุดเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าในพื้นที่ป่อนุรักษ์ที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงในท้องที่ภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งสิ้น 93 พื้นที่อนุรักษ์ 1,582 จุด โดยจ้างราษฎรจุดละ 3 คน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2567 ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในปี 2567 (1 ต.ค. – 31 พ.ค.) เปรียบเทียบกับปี 2566 ในห้วงเวลาเดียวกันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีสถานการณ์ดีขึ้น คือ จุด Hotspot ลดลงจำนวน 20,247 จุด คิดเป็น 28.77% และพื้นที่เผาไหม้ลดลง 5,538,951 ไร่ คิดเป็น 43.38%
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 มิถุนายน 2567 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินกิจกรรม การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตลอดจนถึงการถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาร่วมกันจากทุกภาคส่วนพร้อมนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในภารกิจการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของแต่ละหน่วยงานต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด