• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่า จ.แพร่ และ จ.น่าน หลังพบจุดความร้อนลดลง 47% พื้นที่ไฟไหม้ลดลง 55%

วันที่ 26 พ.ค. 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) “การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและpm2.5ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน” โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ นายกมล นวลใย ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ผู้อำนวยการส่วนแต่ละส่วน หัวหน้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และหน่วยงานร่วมบูรณาการฯ เพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหา และทบทวนกระบวนการต่าง ๆ นำมาเป็นแนวทางการจัดทำแผนและการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในแต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ตามนโยบายของพล.ต.อ.พัชรวาทวงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการเฝ้าระวังควบคุมและดับไฟให้เร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต้องลดฝุ่น PM 2.5 โดยการปรับยุทธวิธีเป็นการตรึงกำลัง ตรึงพื้นที่ไม่ให้คนเข้าไปเผาป่า เพื่อลดการเกิดไฟไหม้และหากพบไฟไหม้ ก็เร่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ และก่อให้เกิดมลพิษหมอกควันที่ต้นเหตุ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้การปฏิบัติงานให้มีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ฯลฯ และเครือข่ายต่างๆเพื่อเป้าหมายการลด hotspot โดยเฉพาะในเขตป่าให้ได้ร้อยละ 50
สถานการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในสังกัด สบอ 13(แพร่) ท้องที่จังหวัดแพร่และจังหวัดน่านในปีงบประมาณพ.ศ.2566 พบว่ามีพื้นที่เผาไหม้(Burnsca) 1,433,503 ไร่ และปี 2567 พบพื้นที่เผาไหม้ 647,466 ไร่ ลดลง คิดเป็น 54.83% จำนวนจุดความร้อน(Hotspot)ในปี 2566 พบจำนวน 6,415 จุด และปี 2567 พบจุดความร้อน 3,474 จุดพบว่าลดลง 46.80% ในบางพื้นที่ป่าอนุรักษ์พบจุด hotspot ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่ยม จังหวัดแพร่ พบจุด hotspot ในปี 2566 จำนวน 550 จุด ในปี 2567 พบ 480 จุด ลดลงร้อยละ 12.7% แต่พบพื้นที่เผาไหม้ใน ปี 2567 เพียงแค่จำนวน 93,613(ไร่) โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นผลของการที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามปฏิบัติตามข้อสั่งการ “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุมและดับได้ไว“
อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในท้องที่จังหวัดแพร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดลำปางบางส่วน ไม่มีหน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่ และไม่มีสถานีควบคุมไฟป่าแต่อย่างใด ดำเนินการโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่เพียง 45 นาย โดยอาศัยการสร้างภาคีเครือข่าย จิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมของชุมชนเครือข่ายรอบอุทยานสามารถลดจำนวนจุด hotspot ในพื้นที่ได้ถึง 50.9 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นอุทยานแห่งชาติในท้องที่จังหวัดน่านมีพื้นที่รับผิดชอบขนาดใหญ่จำนวน 1,065,000 ไร่ ครอบคลุม 8 อำเภอ 24 ตำบล มีหน่วยงานร่วมบูรณาการจำนวน 38 หน่วยงาน ได้มีการ จัดทำแผนปฏิบัติการแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยแบ่งเขตการจัดการจำนวน 4 เขต เพื่อให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ร่วมบูรณาการเข้ามามีบทบาทในการดำเนินแก้ไขปัญหาร่วมกัน พบว่า จำนวนจุดhotspotปี 2566 พบ 1,706 จุด ส่วนในปี 2567 พบจำนวน 615 จุด ลดลงคิดเป็นร้อยละ 63.96 ซึ่งเป็นตามนโยบายของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้ คือการลด hotspot โดยเฉพาะในเขตป่าให้ได้ร้อยละ 50 ในปีนี้
ด้านอุทยานแห่งชาติศรีน่าน พบว่าเมื่อเทียบกับปี 2566 จุดhotspot ลดลงคิดเป็นร้อยละ 13.9 แต่มีพื้นที่เผาไหม้ลดลงคิดเป็นร้อยละ 62.84 ของพื้นที่ทั้งหมด เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชนและชุมชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและpm 2.5 ทำให้สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น
โดยสรุปจากข้อมูลดังกล่าวสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบปี 2567 สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จากการบูรณาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ป่าอนุรักษ์และความร่วมมือของหน่วยงานภายนอก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด