• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พล.ต.อ.พัชรวาท​ สั่งอธิบดีอุทยานฯ​ บินตรวจบัญชาการดับไฟป่าอุทยานฯ​ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่​ คาดดับได้ภายในสองวัน​ จนท.ดับไฟป่าทุกคนขวัญกำลังใจดีสู้ไม่ถอย

วันที่ 16 มีนาคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ มอบหมายให้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าใน​อุทยานแห่งชาติอินทนนท์​ ภายหลังจากให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาไฟป่า​ ณ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่
เวลา​ 14.00 น.​ นายอรรถพล​ เจริญชันษา​ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา​ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน​ ปราบปราม​ และควบคุมไฟป่า ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์​ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินสำรวจและติดตามสถานการณ์ไฟป่า​ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่หน่วยงานพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์​ หลังพบว่าเริ่มมีไฟป่าเกิดขึ้นแนวไฟไหม้​ จึงได้สั่งการให้ war room อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จัดกำลังพลเข้าดำเนินการ โดยได้สนธิกำลังประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สถานีควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์​ สถานีควบคุมไฟป่าบ้านโฮ่ง​ สถานีควบคุมไฟป่าจอมทอง​เพื่อเข้าทำการตรวจสอบและดับไฟป่าในพื้นที่​ พร้อมทั้งได้กำชับให้ดำเนินการจัดกำลังพลเข้าควบคุมทันที โดยให้เจ้าหน้าที่นอนในป่าและดับไฟให้แล้วเสร็จให้ได้มากที่สุด ให้ทำการจัดทำกันไฟให้ครอบคุมแนวไฟไหม้ เพื่อป้องกันไฟลุกลามออกนอกแนว​ การสับเปลี่ยนกำลังสนับสนุน พร้อมส่งเสบียงให้ชุดที่เข้าดับไฟในคืนนี้ด้วยในพรุ่งนี้เช้า​ ให้เร่งจัดทำแพลทเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ไฟไหม้สำหรับการส่งเจ้าหน้าที่เสริมและเสบียง​ และหากเป็นไปได้ให้ขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้สำหรับส่งเสบียงในวันต่อๆ ไปด้วย
นอกจากนี้​ เน้นย้ำให้ปฏิบัติงานตามข้อสั่งการ รมว.ทส.​ โดยให้ปฏิบัติงานตามแผนที่ได้กำหนดไว้ และใช้งบประมาณที่ ได้รับมานี้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยให้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด​ เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างแรงงานในพื้นที่ การกำหนดจุดจัดตั้งและการปฏิบัติงานของจุดเฝ้าระวัง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ​ นำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน โดยควบคุมกำกับดูแลการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า 11 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวนฯ รวมถึงพื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่สูง และในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่ายังคงมีแนวโน้มรุนแรงในหลายจังหวัด ขอให้ทุกหน่วยทุ่มเทสรรพกำลังเข้าปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถ ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งโดยคำนึงถึงความปลอดภัย ของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด