• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พล.ต.อ.พัชรวาทฯ ส่ง ผช.รมว.ทส. ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดิน สปก.รุกเขตอุทยานฯเขาใหญ่ ย้ำให้ยึดหลักความถูกต้อง พร้อมให้กำลังใจ จนท.ทุกคนที่ช่วยปกป้องเขาใหญ่

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายธานนท์ โสภิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงที่ดินที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินการจับกุมพื้นที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ การออกเอกสารสปก. ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณป่าบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี ซึ่งแปลงที่ 1 ตรวจยึดพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2566 (ไม่พบตัวผู้กระทำผิด) และต่อมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 พบตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 2 คน เนื้อที่บุกรุกจำนวน 3-3-93 ไร่ พบป้ายแสดงการครอบครองที่ดิน จึงได้ดำเนินการตรวจยึดพื้นที่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 (ไม่พบตัวผู้กระทำผิด) และต่อมาเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 พบตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 5 คน เนื้อที่บุกรุก 3-3-05 ไร่ ตรวจสอบในที่ดินพบหมุด สปก. จำนวน 7 หมุด รวมเนื้อที่บุกรุก 7-2-98 ไร่ โดยทราบว่ามีการเตรียมการที่จะออกเอกสารสปก. อีกนับพันไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
นายอรรถพลฯ กล่าวว่าการลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการมาแสวงหาข้อเท็จจริง โดยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติว่าจะต้องยึดหลักความถูกต้อง สิ่งใดที่เป็นความถูกต้อง สิ่งใดที่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทด้านที่ดินมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบในเรื่องของการสำรวจรังวัดที่ดิน การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ครอบครอง รวมไปถึงการทำประโยชน์ในพื้นที่ เมื่อมีการส่งดำเนินคดีแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ปปช. ที่จะต้องแสวงหาหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการตาม ม.64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ม.121 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยให้อยู่อาศัยทำกินภายใต้กรอบมาตรการที่กำหนด ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยทำกินเดิม ที่ได้รับการสำรวจไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย 41 โดยราษฎรสามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามกฎหมาย แต่ที่ดินยังคงเป็นของรัฐ ซึ่งกำลังมีการเตรียมมอบสิทธิในการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ให้แก่ราษฎรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเขาใหญ่ ออกมาประกาศรวมพลังปกป้องผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เนื่องจากห่วงใยผืนป่าแห่งนี้ที่มีความเสี่ยงในการถูกถอดถอนจากมรดกโลกได้ หากมีการสูญเสียพื้นที่ป่าเพื่อออกเอกสารสปก. จึงนัดรวมพลคนปกป้องเขาใหญ่ ที่ด้านหน้าทางเข้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝั่งปากช่อง ต่อมาผู้นำกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเขาใหญ่ นำโดยคุณพันชนะ วัฒนเสถียร ได้ยื่นหนังสือต่อ รอ.รชฏฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยมีเนื้อหาว่าสำหรับหมุดนิรนาม สปก.ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังพบมีการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำการเกษตร บริเวณใกล้เคียงแนวกันไฟในหมู่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยพบว่า มีหลักหมุด สปก.ปักอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว ต่อมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบถามกลับไปยัง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากสังคมมีข้อสงสัยในการกระทำดังกล่าว และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่บริเวณโดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ประกอบกับเกรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้กับการเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่นับวันจะมีปัญหาในหลายเรื่องทั้งการปลูกสร้างอาคาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการสร้างเขื่อน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความกระจ่างและหากเกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มที่เข้าไปบุกรุก รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาด รวดเร็วและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด