• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พล.ต.อ.พัชรวาท สั่งติดตามวอร์รูมไฟป่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ใกล้ชิด ภาพรวมจุดความร้อนยังต่ำกว่าปีที่แล้วมากกว่า 50%

วันที่ 19 มกราคม 2567 เวลา 13.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า และตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารเอนกประสงค์
โดยนายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวว่า ตามนโยบายกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีการตั้งเป้าหมายคือพื้นที่เผาไหม้ ลดลง ร้อยละ 50 จากปี 2566 คือ จาก 12,782,479.30 ไร่ ในปี 2566 ให้เหลือไม่เกิน 6,391,239.65 ไร่ ในปี 2567 และ จุดความร้อน (Hot spot) ลดลง ร้อยละ 50 จากปี 2566 จาก 70,511 จุดในปี 2566 ให้เหลือไม่เกิน 35,255 จุดในปี 2567 สำหรับสถานการณ์ไฟป่าปัจจุบันข้อมูลที่ลงในระบบระหว่างวันที่ 1 มกราคม -18 มกราคม 2567) จากศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามีจุดความร้อน (Hot spot) สะสมทั่วประเทศทุกพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 11,298 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 290 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,288 จุด และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 9,720 จุด สำหรับจุด Hot spot ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 290 จุด พบว่าพื้นที่ที่มีจุด Hot spot สูงที่สุด ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเข่าเขียว-เขาชมพู่ จำนวน 66 จุด อุทยานแห่งชาติไทรทอง จำนวน 21 จุด และอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 11 จุด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบนโยบายการแก้ปัญหาไฟป่าในที่ประชุมว่า การจัดตั้งวอร์รูมจะต้องมีการประสานร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่น ให้รับทราบข้อมูลเพื่อให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการให้ทุกภาคส่วนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกวอร์รูมจะต้องมีความพร้อมในการประเมินสถานการณ์ว่าจุดใดเป็นจุดเฝ้าระวังในช่วงเวลาใด และมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายไปเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่ามากที่สุด ทั้งนี้สำหรับการป้องกันการเกิดไฟป่าด้วยการชิงเผา หรือการจัดการเชื้อเพลิงนั้นให้แต่ละวอร์รูมศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ช่วงเวลาชิงเผาเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกับประกาศห้ามเผาของจังหวัด ซึ่งการชิงเผาจะช่วยลดความรุนแรงช่วงฤดูการไฟป่า โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะก่อให้เกิด PM 2.5 ร่วมด้วยหากพบว่าช่วงเวลาใดที่การชิงเผาเสี่ยงต่อการเกิด PM 2.5 ที่กระทบกับประชาชนให้ประเมินช่วงเวลาให้เหมาะสม
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการป้องกันไฟป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธาน “คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน”ได้มอบนโยบาย “ตั้งเป้าลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้กำหนดแนวทางการจัดการไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในปี พ.ศ. 2567 ดังนี้ คือ 1.จัดการเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟป่า 2.ตรึงพื้นที่กำหนดจุดเฝ้าระวัง 3.จัดตั้ง War Room ระดับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4.เตรียมพร้อมกำลังพลเพื่อดับไฟป่า 5.เฝ้าระวังควบคุมพื้นที่ตลอดห้วงฤดูไฟป่า 6.จัดระเบียบการเผาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า 7.กำหนดแผนการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ 8.จัดระเบียบการเผาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตป่า 9.ควบคุมการเก็บหาของป่าและใช้ประโยชน์ และ 10.รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เคาะประตูบ้าน ซึ่งจากนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่อนุรักษ์ ปี 2567 กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนดเป้าหมาย คือ “ลดจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ลง 50% จากปี 2566”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด