วันที่ 4 กันยายน 2566 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนร่วมได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม ได้ดำเนินการสำรวจเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งคาบเกี่ยวกับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากลางอ่าว และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ในท้องที่ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่ที่เป็นสภาพป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2484 พื้นที่เกาะทั้ง 3 เกาะ ได้แก่ เกาะทะลุ (บางส่วน) เกาะสังข์ เกาะสิงห์ และพื้นที่รอบเกาะ ในท้องที่ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8,021 ไร่ ในการเตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม
โดยพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับวางไข่ของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะเต่ากระ (Eretmochely simbricata) จะพบการขึ้นวางไข่เฉพาะในฝั่งทะเลอ่าวไทยเท่านั้น ซึ่งหนึ่งพื้นที่ในการขึ้นวางไข่คือ เกาะทะลุ อำเภอบางะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งวางไข่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากเป็นแหล่งวางไข่ของสัตว์ทะเลหายากแล้ว ยังพบสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ ฉลามวาฬ (Rhincodon typus) เข้ามาหากินและว่ายใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติ ในส่วนของพืชป่าที่มีความสำคัญและเป็นไม้เศรษฐกิจ ได้แก่ พะยูง ชิงชัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการอย่างมากและที่สำคัญพื้นที่โดยรอบของพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม มีชุมชนที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้พบการเข้าหาผลประโยชน์ในพื้นที่ป่ามากมาย เช่น การหาของป่าและการทำไม้ต่าง ๆ เพื่อเชิงพาณิชย์ เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเข้าถึงได้ง่าย จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภัยคุกคามในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้คงอยู่ตามสภาพเดิม โดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญ ในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมที่สำคัญ รวมทั้งเพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจหรือนันทนาการของประชาชน เนื่องจากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามและมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าวิจัยทางธรรมชาติ เนื่องจากอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวน จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าวิจัยด้านนิเวศวิทยาหรือการศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการให้บริการทางนิเวศที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=34337 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 13 กันยายน 2566