วันที่ 26 สิงหาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ แกมทับทิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17 – 26 สิงหาคม 2566 ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ได้ดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหาลิงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยการควบคุมประชากรลิงด้วยวิธีการทำหมัน ซึ่งได้ดำเนินการณ์บริเวณเขตเมืองเก่าท้องที่เทศบาลเมืองลพบุรี ด้วยการดักจับลิงและคัดแยก เพื่อนำไปทำหมัน ณ โรงพยาบาลลิง สวนสัตว์ลพบุรี หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ โดยมีนายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี และสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ร่วมปฏิบัติงาน
ผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ดักจับลิงได้ทั้งหมด 459 ตัว และคัดลิงที่สามารถนำมาทำหมันได้ 150 ตัว สรุปยอดทำหมันลิงได้ทั้งหมด 147 ตัว เป็นเพศผู้ 57 ตัว เพศเมีย 90 ตัว และพบว่าเป็นลิงตั้งท้อง 3 ตัว ซึ่งไม่สามารถทำหมันได้ จากนั้น เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้นำลิงที่ทำหมันแล้วจากโครงการฯ ซึ่งเป็นลิงที่มาจากจุดเซ่งเฮง หน้าธนาคารทหารไทยเก่า ที่ดักจับลิงได้ 73 ตัว และสามารถนำมาทำหมันได้ 41 ตัว โดยนำลิงที่ทำหมันแล้วในจุดนี้ จำนวน 20 ตัว กลับมาพักฟื้นที่คลินิกสัตว์ป่าฯ หลังจากนั้นจะดำเนินการส่งลิงทั้ง 20 ตัวนี้ไปศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก)
นายสุทธิพงษ์ แก้มทับทิม กล่าวเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี ได้ดำเนินการทำหมันลิงที่อยู่บริเวณเขตเมืองเก่า พื้นที่เทศบาลเมืองลพบุรี ทั้งหมด 322 ตัว เพศผู้ 154 ตัว และเพศเมีย 168 ตัว โดยแบ่งเป็นการดำเนินโครงการฯ 2 ช่วง คือ 19 – 28 มกราคม 2566 และ 17-26 สิงหาคม 66
สำหรับการดำเนินงานของโครงการควบคุมประชากรลิงหรือทำหมันลิง ได้มีการดักจับลิงไปทำหมันที่โรงพยาบาลลิงสวนสัตว์ลพบุรี มีทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลดำเนินการทำหมัน มีวิธีการวางยาชั่งน้ำหนักทำความสะอาด และทำเครื่องหมายรอยสักที่ใต้ท้องแขนทุกตัวที่ทำหมัน สำหรับรอยสักจะบอกถึงจังหวัดที่ทำ สถานที่ทำ ปีที่ทำ และลำดับตัวที่ทำ ลักษณะเหมือนหมายเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งหลังจากทำหมันเสร็จแล้วก็จะนำลิงไปพักฟื้นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 48 ชั่วโมงแล้วแต่ว่าบาดแผลมีอาการอักเสบมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีการอักเสบเราจะนำไปปล่อยกลับคืนสู่กลุ่มเดิมที่เราจับมา โดยจังหวัดลพบุรีและหน่วยงานทุกภาคส่วนของจังหวัดได้ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาลิงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาลิงให้เป็นระบบตามขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนสุขใจ ลิงปลอดภัยอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป.