วันที่ 25 เมษายน 2566 ที่โรงแรมเดอะ แลนมาร์ค กรุงเทพฯ นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย สัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกิจกรรมรณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสู่การปฏิบัติ เพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย” (Time to deliver zero malaria: invest, innovate, implement) พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ โดยมีนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิด
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมควบคุมโรค มีเจตนาร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือสำหรับ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ในด้านวิชาการ การวิจัยการปฏิบัติงาน และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองฝ่ายและแก่ประชาชน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้มาลาเรีย โดยจะคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละฝ่าย เพื่อการป้องกันควบคุมและกำจัดโรคไข้มาลาเรีย อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
จากนั้น นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ ได้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ ในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการด้านการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ในประเทศไทย ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมควบคุมโรค ภายใต้ประเด็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน โดยจัดทำรายละเอียดโครงการหรือกิจกรรมย่อยแต่ละโครงการ เพื่อพัฒนาระบบการติดตาม เฝ้าระวัง คาดการณ์แจ้งเตือน การแพร่ระบาดของโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อป้องกันควบคุมโรค พัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดำเนินงานด้านป้องกันควบคุมและกำจัดโรคไข้มาลาเรีย
โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การฝึกอบรม การประชุมสัมมนาผ่านกลไกหรือเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อนำมาใช้ประโยซน์ในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน ดำเนินงานในกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการดำเนินงาน ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทักษะด้านวิชาการ ด้านการวิจัยร่วมกัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการป้องกันควบคุมโรคและกำจัดไข้มาลาเรีย รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้และผลงานที่ได้จากการวิจัยและพัฒนา
นอกจากนี้ GOLF AID CHARITY ได้มอบเสื้อมุ้งกันยุง และอุปกรณ์เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงแก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้แนวคิด “เขาปกป้องป่าเพื่อเรา เราปกป้องเขาเพื่อป่า” เพราะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือด่านหน้า และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย สายพันธุ์ใหม่ ที่มีลิงเป็นตัวอมโรค และมียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ.