• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส.ตรวจเยี่ยมโครงการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งอุทยานฯ สิรินาถ จ.ภูเก็ต สั่งเร่งขยายระยะ 2 ต่อยอดความสำเร็จ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)​ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เปิดเผยความก้าวหน้าโครงการรั้วไม้ดักทรายซิกแซก พร้อมสั่งการขยายผลระยะ 2 ต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2568 เวลา 17.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ติดตามโครงการ​แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่วิกฤตในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ บริเวณหาดทรายแก้ว ซึ่งประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง

อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ 56,250 ไร่ (ในพื้นน้ำ 42,500 ไร่ และบนบก 13,750 ไร่) มีชายหาดทรายงามต่อเนื่อง 13 กิโลเมตร ปัจจุบันเผชิญกับวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงทั่วพื้นที่ ประสบปัญหาการกัดเซาะตลอดแนวชายหาด 13 กม. โดยบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ถูกกัดเซาะเข้าในแผ่นดิน 11.6 เมตร ส่วนหาดทรายแก้วมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 2.64 เมตร/ปี ระหว่างปี 2558-2559 ถูกกัดทับถม 24.5 เมตร ทำให้ต้นสนหน้าหาดล้มเป็นจำนวนมาก

ที่น่าวิตกยิ่งคือ พื้นที่ชายฝั่งปัจจุบันห่างจากถนนออกจังหวัดเพียง 25 เมตร คลื่นหนุนสูงในบางปีพัดน้ำทะเลข้ามถนน กระทบการจราจร หากไม่รีบแก้ไขอาจเกิดวิกฤตการคมนาคมขนส่งได้

กรมอุทยานฯ ได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่วิกฤตในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ​ โดยสร้างรั้วไม้ดักทรายคู่ขนานแบบซิกแซก ระยะที่ 1 ความยาว 500 เมตร เพื่อเก็บกักตะกอนทรายและลดแรงกระทำของคลื่น โดยใช้งบประมาณจากเงินอุทยานแห่งชาติ เป็นการศึกษาแนวทางลดการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาง่ายในท้องถิ่น มีลักษณะพิเศษคือแนวรั้วไม้วางแบบซิกแซก 2 ชั้น ช่วยลดความเร็วคลื่นได้ดีกว่าการสร้างแนวตรง และสามารถเก็บตะกอนทรายได้ ปัจจุบันได้ดำเนินการปักไปแล้ว 300 เมตร มีทรายสะสมเฉลี่ย 30-50 เซนติเมตร

หลังตรวจเยี่ยมความก้าวหน้า รมว.ทส. พอใจผลการดำเนินงาน สั่งให้กรมอุทยานฯ เร่งดำเนินการระยะ 2 ขยายผลทันที ด้วยการติดตั้งรั้วไม้ดักทรายเพิ่มเติม 1,150 เมตร รวมทั้งหมด 1,650 เมตร เพื่อครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อชาวบ้านและนักท่องเที่ยว สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการท่องเที่ยว โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังโครงการนำร่องที่สามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับอุทยานฯ ทางทะเลแห่งอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายคลึง ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่น ค่าใช้จ่ายไม่สูง บำรุงรักษาง่าย และมีประสิทธิภาพจริง

จากนั้น รมว.ทส. ขอบคุณชาวบ้านบ้านท่าฉัตรไชยและกลุ่มอนุรักษ์บ้านไม้ขาว ที่ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดูแลรักษาและรายงานสภาพความเสียหายอย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างราชการและประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช​ กล่าวว่า โครงการระยะ 2 จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 เพื่อให้สามารถรับมือกับคลื่นลมที่รุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 5.85 ล้านบาท และสามารถลดอัตราการกัดเซาะลงได้ 60% ตามการศึกษาพื้นที่ทดลอง ด้วยความสำเร็จของโครงการนำร่อง กรมอุทยานฯ วางแผนขยายผลไปยังอุทยานทางทะเลอื่นๆ ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั่วทั้งชายฝั่งทะเลตะวันออกและทะเลตะวันตก โดยจะปรับเทคนิคให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด