วันที่ 25 เมษายน 2566 นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ จ. กาญจนบุรี หัวหน้าโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ได้นำภาพจากกล้องดักถ่าย (Camera Trap) ที่ติดตั้งไว้ เพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมวัวแดงในพื้นที่ พบน้องวัวแดงเดินอวดโฉมในผืนป่า พร้อมสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ
นายเสรี นาคบุญ กล่าวว่า “หลังจากที่พวกเราไปทำมวลชนในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่องหลายปี การล่าสัตว์ป่าค่อย ๆ หายไป สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ค่อย ๆฟื้นฟูกลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้องวัวแดงที่เป็นเป้าหมายหลัก เชื่อได้เลยว่า หากเรารักษาสถานการณ์เช่นนี้เอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง น้องวัวแดงก็จะสามารถข้ามไปมาหาสู่ผสมพันธ์ุแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกันได้ และนั่นจะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของโมเดล “Corridor มนุษย์” นอกจากน้องวัวแดงแล้วยังมีสัตว์ป่าสำคัญอีกหลายชนิด เป็นเรื่องน่ายินดีมากครับพี่น้อง”
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงวัวแดง ในโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อต้องการปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนรู้จักรักและช่วยกันดูแลรักษาระบบนิเวศวิทยาของป่าและสัตว์ป่า ให้มีความสมดุลทางธรรมชาติ โดยผืนป่าสลักพระ เดิมเป็นบ้านหลังใหญ่ของวัวแดง แต่เพราะมีการลักลอบล่าวัวแดง ทำให้จำนวนของวัวแดงน้อยลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประชากรวัวแดงในผืนป่าสลักพระแห่งนี้ และเป็นโชคดีที่มีการช่วยชีวิตลูกวัวแดงเพศเมียในเขตป่าสลักพระได้โดยบังเอิญ จึงนำมาเพาะเลี้ยงที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เริ่มเพาะเลี้ยงวัวแดงที่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของป่าสลักพระ และเกิดเป็นโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติขึ้นมาจนปัจจุบัน