• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ปล่อยแถวชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังช้างป่า ดูแล 5 จังหวัดภาคตะวันออก ปฏิบัติการ 24 ช.ม.

วันที่ 16 มีนาคม 2566 เวลา 15.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อทช.รรท.ออส.) เป็นประธานในพิธีปล่อยแถวชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังช้างป่า ณ ที่ว่าการอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง โดยมี นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 หัวหน้าหน่วยงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่สนับสนุน 150 นาย และตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์
อทช.รรท.ออส. กล่าวว่า พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสระแก้ว ได้ประสบปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ราษฎรโดยรอบ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เล็งเห็นถึงปัญหาและตระหนัก ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด จึงจัดตั้งเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าและแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ และเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ ติดตาม เฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์และต้อนกลับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ดังเดิมแจ้งเตือนเหตุแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ช้างป่าจะเคลื่อนผ่าน รวมถึงราษฎรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกันอันตราย ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และปฏิบัติการกู้ภัยให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบเหตุช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะพื้นที่ กลุ่มป่าภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี ครอบคลุม อ.กบินทร์บุรี-ศรีมหาโพธิ และ จ.สระแก้ว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่แนวเขตป่าที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า สัตว์ป่าออกมารวบกวน เกิดความเสียหายในชีวิตทรัพย์สิน
ชุดปฏิบัติการฯ ถือเป็นด่านหน้าที่ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบไปพร้อมๆกับการลดความเสียหายหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดจากชีวิตทรัพย์สิน ของพี่น้อง ที่สำคัญที่สุดจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพี่น้องประชาชนให้หันหน้าเข้ามาช่วยกันทำงานให้มีความใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างและนโยบายการดูแลพื้นที่ การควบคุมประชากรช้าง การลดความเสียหายไปจนถึงการเยียวยาที่ต้องดำเนินการไปอย่างรวดเร็วคุ้มค่า และขอให้พัฒนาชุดปฏิบัติการให้มาเป็นครู เพื่อขยายผลไปสอนให้กับชุดปฏิบัติการช้างที่เรากำลังจะขยายไปทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศจึงขอให้ทุกท่านภูมิใจในภารกิจนี้ ซึ่งในปีนี้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สนับสนุนงบประมาณงบเงินอุดหนุนตามกิจกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า ที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรนอกพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า ให้กับเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 92 เครือข่าย เครือข่ายละ 50,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด