• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ แจ้งเอาผิดเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ ลักลอบทำประมงในพื้นที่อุทยานฯ ตะรุเตา

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งการให้ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า พร้อมด้วย นายชาญวิทย์ กันยา ผู้อำนวยการกองนิติการ นายพนัชกร โพธิบัณฑิต ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) เข้าแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีเรือประมงพาณิชย์ที่ลักลอบเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล จำนวน 27 ลำ ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยมี พ.ต.อ.อนันต์ วรสาตร์ ผู้กำกับการ สน.บางเขน เป็นผู้รับเรื่องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ณ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ม.ค.66 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเปีะ จ.สตูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากชาวบ้านกว่า 200 คน ซึ่งขณะลงพื้นที่ได้ตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่ลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงได้มอบหมายให้ กรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตรวจสอบกรณีเรือประมงที่ลักลอบเข้าไปทำประมงในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จากการตรวจสอบของคณะทำงานวิเคราะห์ สถานการณ์ การตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมง และแรงงานในภาคประมง กรมประมง พบว่ามีเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ คาดว่าเข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2566 จึงได้นำข้อมูลในระบบติดตามเรือประมง (VMS) ที่เข้ามาทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พร้อมทั้งเส้นทางการทำประมงของเรือประมงจำนวน 27 ลำ มาตรวจสอบพบว่าจุดที่มีการทำประมงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 5 ข้อหา ได้แก่ 1.ฐาน ร่วมกันกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2.ฐาน ร่วมกันล่อหรือนำสัตว์ป่าอกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3. ฐาน ร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 4. ฐาน ร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 5. ฐาน บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

อย่างไรก็ตาม เรือประมงทั้ง 27 ลำ มีขนาดระหว่าง 40-113 ตันกรอส มีความผิดเกี่ยวกับการเข้าไปล่าสัตว์ (จับสัตว์น้ำ)ในเขตพื้นที่อุทยาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุด จำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด