วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 15.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้การต้อนรับนายดิเรก จอมทอง ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน นายสุวิชาณ สุวรรณาคะ เลขาธิการเครือข่ายฯ พร้อมด้วยผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชา 7 จังหวัด พร้อมหารือขอให้จัดการกับสัตว์ป่า (ช้างป่า) ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อคนและช้างป่า และควบคุมพื้นที่การอยู่อาศัยของช้างป่า โดยมีนายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน ได้เสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำช้างป่าออกจากชุมชน ป้องกันไม่ให้ช้างกลับเข้ามาอีก เสนอให้มีการทำคันกั้นช้างพร้อมถนนตรวจการณ์ ที่สามารถป้องกันช้างได้ ซึ่งสามารถต่อยอด พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ชาวบ้าน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาช้างป่า ต่อไปนี้จะดำเนินการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น เห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรรมการและเลขานุการ มีการตั้งอนุกรรมการช้างป่า อนุกรรมการช้างบ้าน และคณะทำงานต่างๆโดยเฉพาะคณะทำงานด้านการช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งจะมีการเชิญภาคประชาชนเข้าร่วมด้วย โดยในวันที่ 5 เมษายน 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ซึ่งจะมีนำวาระเร่งด่วนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าที่จะขับเคลื่อนตามแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างยุติธรรม และรวดเร็ว
ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่า ให้ทุกพื้นที่มีการบริหารการจัดการพื้นที่ โดยนำโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เป็นต้นแบบ ทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำ อาหาร ทุ่งหญ้า ตามหลักวิชาการ สำหรับโครงการรั้วกั้นช้าง จะมีคณะกลั่นกรองตรวจสอบก่อนการดำเนินการ หากไม่เหมาะสม จะไม่พิจารณาสร้าง นอกจากนี้จะมีการจ้างผู้ปฏิบัติงานเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าโดยตรง รวมถึง สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม และจะมีการจัดทำพื้นที่พิเศษควบคุมพฤติกรรมช้างป่า การควบคุมประชากรช้างป่าโดยการคุมกำเนิด ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน พร้อมสนับสนุนการทำงานและช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อไป