• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

วางแผนจับเสือโคร่งห้วยขาแข้ง เตรียมย้ายไปป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เชื่อยังวนเวียนขอบชายป่า

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เปิดเผยว่า นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานโดยมี นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ นายตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายสังวาลย์ แสงสวัสดิ์ หัวหน้าพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา-ห้วยระบำ นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมประชุมวางแผนการปฏิบัติงานและติดตามความคืบหน้าการพลักดันเสือโคร่งที่ออกมาจากป่าห้วยขาแข้ง ทำร้ายแพะของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ตายไป 2 ตัว บาดเจ็บ 1 ตัว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าเสือโคร่งยังวนเวียนอยู่ตามชายขอบป่า

โดยที่ประชุมได้กำหนดมาตรการดำเนินการให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานปฎิบัติ โดยให้จัดชุดเฝ้าระวัง จำนวน 7 ชุด เพื่อเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในพื้นที่ป่ารอยต่อกับชุมชน และลาดตระเวนกดดันเสือตามพื้นที่รอยต่อป่าและชุมชนกับบริเวณจุดเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านในหมู่บ้าน (จุดเดิม) จำนวน 3 ชุด ประกอบด้วย ขสป.ห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ชุด พื้นที่เตรียมการฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา-ห้วยระบำ จำนวน 1 ชุด และเพิ่มเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังบริเวณคอกปศุสัตว์ในหมู่บ้าน จำนวน 4 ชุด ประกอบด้วย อปพร. จำนวน 1 ชุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 1 ชุด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน 1 ชุด พื้นที่เตรียมการฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทับเสลา-ห้วยระบำ จำนวน 1 ชุด ให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดเตรียมเหยื่อล่อและจัดทำสถานที่ดักจับเสือ ร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ โดยทำคอกวางเหยื่อล่อไว้ 2 จุด และให้ประสานและจัดเตรียมสัตวแพทย์เพื่อยิงยาสลบ จำนวน 5 ชุด โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จำนวน 1 ชุด สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 1 ชุด และจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า จำนวน 3 ชุด โดยทีมสัตวแพทย์ทุกชุดพร้อมปฏิบัติการในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ ให้สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำการตรวจสอบร่องรอยและตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพ ในช่วงเช้าทุกวันจนกว่าจะปฏิบัติงานเสร็จ โดยขยายพื้นที่ตรวจสอบให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เมื่อดักจับได้ กำหนดจะเคลื่อนย้ายเสือโคร่งตัวนี้ไปยังพื้นที่ใหม่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ทางอากาศยานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อประสานงานกับผู้ประสานงานแผนบินเป็นการเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งได้ประสานงานกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ให้ช่วยพิจารณาเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับจะปล่อยเสือตัวดังกล่าว

สำหรับอาการบาดเจ็บของแพะตัว ที่ถูกเสือกัดนั้น นายสัตวแพทย์ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) และของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้เข้าตรวจอาการบาดเจ็บของแพะที่ถูกเสือทำร้าย พบว่ามีบาดแผลบริเวณลำคอ แพะมีอาการคอผิดรูป โดยแพะเริ่มกินหญ้าและน้ำได้ นายสัตวแพทย์ ได้ให้ยาฆ่าเชื้อ ลดปวด น้ำเกลือ และทำความสะอาดแผล โดยจะให้ยาและทำแผลอย่างต่อเนื่อง และวางแผนรักษาอาการคอผิดรูปของแพะตัวที่ได้รับบาดเจ็บตัวนี้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด