• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ประชุมร่วมคณะกรรมาธิการฯ พิจาณาออกแบบสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่า

วันที่ 27 กันยายน 2565 นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเรื่องการออกแบบสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่า ร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย นายกสภาวิศวกร นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ผู้อำนวยการศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม โดยมี นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นางสาวสมหญิง ทัฬหิกรณ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ กรมอุทยานแห่งชาติฯ

โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงที่มา หลักการ และเหตุผลการจัดทำโครงการจัดทำสร้างสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่า ซึ่งนับแต่อดีตถึงปัจจุบันดำเนินการได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การก่อสร้างรั้วป้องกันช้างป่า การขุดคูป้องกันช้างป่า การทำรั้วไฟฟ้า เป็นต้น โดยหลักทั่วไปของการจัดทำแนวกีดขวางแต่ละรูปแบบ มีรายละเอียดการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การจัดทำรั้วป้องกันช้างป่า มักจะดำเนินการก่อสร้างด้วยเสาคอนกรีตขนาดความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 3 เมตร ฝังลึกลงพื้นที่ดินประมาณ 2 เมตร โดยมีระยะห่างกันต้นละ 5-6 เมตร ยึดโยงด้วยเหล็กข้ออ้อย (แนวนอน) เป็นแนว 3-5 แนว ในภาพรวมพบว่าวิธีการจัดทำสิ่งกีดขวางลักษณะนี้เป็นวิธีที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายต่อคนและช้างป่า สะดวกในการดูแล และการบำรุงรักษาระยะยาว ทั้งนี้ การออกแบบรั้วจะต้องออกแบบเฉพาะให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพภูมิประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น สภาพดิน ความลาดชัน ลำธาร ฯลฯ การจัดทำคูป้องกันช้างป่า การขุดคูเพื่อป้องกันช้างนั้นมีแนวคิดพื้นฐานเบื้องต้นว่าคูนั้นจะต้องมีความกว้างมากพอจนกระทั่งช้างไม่สามารถที่จะก้าวข้ามผ่านไปได้ โดยปกติแล้วการขุดคูกันช้างนั้นมักมีขนาดความกว้างปากมากกว่า 3 เมตร และมีความลึกมากกว่าประมาณ 3 เมตร มีพื้นที่ด้านลาดในแนวพื้นที่ป่าธรรชาติเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับช้างป่าโดยเฉพาะลูกช้าง อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบ ขนาดและลักษณะของคูกันช้างจำเป็นต้องพิจารณาควบคู่ไปกับลักษณะทางกายภาพและสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันพบว่าการจัดทำรั้ว แนวป้องกันช้างป่า หรือการขุดคูกันช้างเพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงรูปแบบเดียวนั้น ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ไม่เพียงพอโดยสาเหตุหลักสืบเนื่องมากจากพฤติกรรมการเรียนรู้ของช้าง ความสามารถเฉพาะตัว ความแข็งแรงทนทานของรั้วป้องกันช้างป่า ปัญหาการพังทลายของคูกันช้าง ตลอดจนความต่อเนื่องของการดูแลบำรุงรักษาสิ่งกีดขวางนั้นๆดังนั้น ในหลายประเทศจึงได้มีการประยุกต์ใช้เทคนิค กลยุทธ์ และวิธีการในรูปแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแนวป้องกันช้างป่าที่ได้จัดทำขึ้น เช่น ในประเทศอินเดียและประเทศมาเลเซีย ได้มีการสร้างแนวรั้วป้องกันช้างป่าคู่ขนานไปกับคูกันช้าง หรือการจัดทำรั้วป้องกันช้างป่ารวมกับการใช้สัญญาณแจ้งเตือนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้รูปแบบและวิธีการที่ผสมผสานเพื่อป้องกันช้างเหล่านี้พบว่านี้ให้ผลสำเร็จใน การป้องกันช้างป่าได้ดียิ่งขึ้น

รวมถึงที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำแนวป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินงานก่อสร้างรั้วป้องกันช้างป่า โดยใช้รูปแบบรั้วผสมผสาน เป็นรั้วกันช้างซึ่งมีโครงสร้างเสาคอนกรีตเสริมเหล็กและร้อยด้วยเหล็กข้ออ้อยหรือเหล็กเส้น ตามหลักวิศวกรรม และมีการติดตั้งระบบฟฟ้าป้องกันช้างด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยได้ดำเนินการในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสิ้น 5 แห่ง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 119.26 กิโลเมตร ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ แต่เนื่องจากช้างป่ามีพฤติกรรมการเรียนรู้สภาพสิ่งแวดล้อมจนสามารถทำลายแนวป้องกันออกมาภายนอกได้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้หารือทุกภาคส่วนในการดำเนินการปรับปรุงแบบรั้วกึ่งผสมผสานให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น เช่น ปรับปรุงความสูงของแนวรั้วกั้นช้างให้มีความสูงขึ้นออกแบบเสาปูนและวัสดุที่ใช้ทำกำแพงกั้นให้มีความแข็งแรงสามารถรับแรงกระแทกจากช้างป่าได้ ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการซ่อมบำรุงแนวรั้วที่ชำรุดโดยเร็ว

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกับพิจารณาแนวทางการออกแบบสิ่งกีดขวางป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ แบบรั้วกึ่งถาวร มีรูปแบบเป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดความกว้างประมาณ 50 เชนติเมตร ความสูงประมาณ 3 เมตร ฝังลึกลงพื้นที่ดินประมาณ 2 เมตร โดยมีระยะห่างกันต้นละ 5-6 เมตร ยึดโยงด้วยเหล็กข้ออ้อย (แนวนอน) เป็นแนว 3-5 แนว และ แบบแบริเออร์ โดยภาพรวมมีลักษณะเป็นรูปแบบคันดินกันช้างป่า ขุดดินเดิมลึกประมาณ 3 เมตร ทำมุมประมาณ 36 องศา ปั้นคันสูงประมาณ 1 เมตร ลาดคันดินด้วยคอนกรีต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด