• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ระดมความเห็นหน่วยงานทั่วประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาช้างป่า

วันที่ 16 กันยายน 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยมี นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสาขา หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายรัชฏา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความเห็นในการจัดการช้างป่าของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และจัดการช้างป่าของประเทศให้มีประสิทธิภาพไปในทิศทางเดียวกัน โดยยังได้เน้นย้ำว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ผู้เชี่ยวชาญผู้มีความรู้ในเรื่องการจัดการสัตว์ป่ามาดูแล และปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติอย่างเต็มที่

นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัจจุบันช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 – 3,483 ตัว ในพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 31 แห่ง และอุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่มาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าตะวันออก แนวโน้มประชากรช้างป่าในประเทศไทยในภาพรวมมีการเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากอดีต แต่ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

โดยปัญหาหลักของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่า ได้แก่ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 29 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 แห่ง ซึ่งการจัดการช้างป่าจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การอนุรักษ์ การจัดการ และการแก้ไขปัญหา เป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เรื่องลักษณะโครงสร้างและพฤติกรรมของช้างป่า การจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย การจัดการแหล่งอาหารสัตว์ป่า การป้องกันให้ถิ่นอาศัยและช้างป่าได้รับการคุ้มครอง และมีความปลอดภัย ลักษณะสภาพชุมชนและพื้นที่โดยรอบ และการจัดการช้างป่าแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดแผนงานและการจัดการช้างป่า ภายใต้ “กิจกรรมการแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่าที่สร้างผลกระทบต่อราษฎรอนุรักษ์สัตว์ป่า” ตามแผนงานยุทธศาสตร์จัดระบบอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นระยะแรกระหว่างปี พ.ศ. 2562-2565 ในพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รวมถึงพื้นที่กลุ่มป่าในภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งสิ้น 8 กลุ่มป่า โดยได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าอนุรักษ์  การพัฒนาพื้นที่แนวกันชน และพัฒนาพื้นที่ชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด