• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สัตว์ป่าของกลางชาวอินเดียส่งถึงมือสัตวแพทย์ เร่งตรวจสุขภาพคัดกรองโรคก่อนนำไปดูแล

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา พร้อมด้วยนายสธน คงเงิน หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ ได้นำสัตว์ป่าของกลางที่ตรวจยึดได้จากชายชาวอินเดียที่ลักลอบขนออกจากประเทศไทย มาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมี นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ร่วมรับมอบ เพื่อให้สัตวแพทย์ได้ตรวจสุขภาพสัตว์ป่าของกลาง ก่อนส่งมอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่มีความเหมาะสมดูแลต่อไป

โดยก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าตรวจสอบบริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย พบมีสิ่งผิดปกติคล้ายสิ่งมีชีวิตอยู่ภายในกระเป๋าเดินทาง พบเป็นกระเป๋าสัมภาระของ MR.ABILASH ANNADURI อายุ 21 ปี สัญชาติอินเดีย ซึ่งเป็นผู้โดยสารของสายการบินไทย กำลังจะเดินทางไปสนามบิน CHENNAI ประเทศอินเดีย โดยภายในกระเป๋าพบสัตว์ป่าควบคุม จำนวน 6 ชนิด รวม 17 ตัว โดยมีจิ้งจอกทะเลทราย จำนวน 1 ตัว Cuscus จำนวน 1 ตัว ลิงมาโมเสท จำนวน 8 ตัว จิ้งเหลนสีเขียว จำนวน 2 ตัว ตะกวด จำนวน 3 ตัว งูหลามเผือก จำนวน 2 ตัว จึงได้ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง และแจ้งข้อหา ฐานส่งออกสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562  ฐานนำสัตว์ออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และฐานนำของต้องกำกัดหรือของต้องห้าม ออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 เพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

ด้าน นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการลักลอบค้าสัตว์ป่าต่างประเทศที่จะส่งออกไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการส่งออกสัตว์ไปยังประเทศอินเดียที่ได้จับกุมได้บ่อยครั้ง ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะต้องมีการนำเข้าและส่งออกอย่างถูกต้องตามกฏหมาย โดยจะมีการฝังไมโครชิฟหมายเลขประตัวสัตว์แต่ละตัว โดยสัตว์ของกลางครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจแล้วไม่พบแต่อย่างใดเลยทำให้ไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงเพื่อให้มีราคาถูกลง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้เพิ่มความเข้มข้นในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งสัตว์ที่ตรวจยึดมายังคงต้องให้ทางสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ทำการดูแลสุขภาพสัตว์ไปก่อน ซึ่งขณะนี้กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กำลังก่อสร้าง ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดหนองคาย และชุมพร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นการรองรับสัตว์ป่าต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า สัตว์ของกลางที่ได้รับมอบมาถือว่าเป็นสัตว์ที่ป่วย ซึ่งอาจจะป่วยทั้งด้านร่างกาย หรือทางด้านจิตใจ ซึ่งการถูกมาอยู่ในกรงเกิดความแออัดทำให้เกิดความเครียด ถือเป็นสิ่งสำคัญ ทางสัตวแพทย์จะได้ทำการประเมินสุขภาพสัตว์ ตรวจเช็คประวัติ และเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจโรค ซึ่งสัตว์หลากหลายชนิดมารวมกันอาจจะทำให้เกิดโรคบางอย่าง จึงจำเป็นต้องมีการคัดกรองโรคทุกครั้ง ก่อนที่จะนำไปดูแลอนุบาลต่อไป ทั้งนี้ได้มีความเป็นห่วงถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่าจะเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ซึ่งในปัจจุบันโรคอุบัติใหม่ หรือโรคต่างๆหลายชนิดที่พบเจอ ก็ล้วนเกิดมาจากสัตว์ป่า ซึ่งการลักลอบค้าสัตว์ป่าจะทำให้คนกับสัตว์ใกล้ชิดกัน อาจจะเกิดการถ่ายทอดโรคสู่กันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด