• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อธิบดีกรมอุทยานฯ ตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน

วันที่ 2 กรกฎาคม​ 2565 เวลา 17.00 น. นายร​ั​ชฎา​ สุริย​กุล​ ณ​ อยุธยา​ อธิบดี​กรม​อุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และ​พันธุ์พืช​ พร้อมด้วย นายณัฐ โก่งเกษร ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ลงพื้นที่โครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาค้อเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งปลูกต้นรวงผึ้งไว้เป็นที่ระลึก โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) พร้อมด้วย ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม และเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน อำเภอเขาค้อ​ จังหวัดเพชรบูรณ์

โดย นายประสาน เอียดสังข์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ทำหน้าที่หัวหน้า​โครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน ได้บรรยายสรุปโครงการฟื้นฟูฯ ซึ่งครอบคลุม​อำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่รวม 132,626 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ เนื้อที่ 68,251.12 ไร่ ซึ่งหลังจากเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่ตำบลน้ำก้อ และน้ำชุน จังหวัดเพชรบูรณ์ ราษฎรเสียชีวิต 135 คน สูญหาย 1 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 208 หลัง เสียหายบางส่วน 461 หลัง และทรัพย์สินเสียหาย เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม โดยกรมประชาสงเคราะห์มอบพื้นที่นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีวิกฤติ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการปลูกและบำรุงป่าในพื้นที่เสื่อมโทรม อีกทั้ง ครม. ยังได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2546

ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน ได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 39,243.20 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.59 ของพื้นที่โครงการฯ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบโครงการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน มีหน่วยรับผิดชอบในพื้นที่โครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 10 หน่วย นอกจากนี้บริเวณที่ทำการในปัจจุบันยังได้สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งในอนาคตได้เตรียมผนวกพื้นที่ของโครงการฯ รวมอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาค้อ เพื่อให้การบริหารจัดการและการอนุรักษ์พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด