• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อธิบดีฯ รัชฎา ลงพื้นที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง เน้นย้ำการทำงานประชาชนต้องได้รับประโยชน์

วันที่ 2 กรกฎาคม​ 2565 เวลา 14.00​ น. นายร​ั​ชฎา​ สุริย​กุล​ ณ​ อยุธยา​ อธิบดี​กรม​อุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และ​พันธุ์พืช​ พร้อมด้วย นายณัฐ โก่งเกษร ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) นายชิดชนก สุขมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) พร้อมด้วย ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม เจ้าหน้าที่ศูนย์​กู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่ในสังกัดร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

โดย นายนครินทร์ สุทัตโต ห้วหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ได้บรรยายสรุปข้อมูลทั่วไป และรายงานผลการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง รวมถึงผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งได้ลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ 100% ส่งผลทำให้มีสถิติคดี ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยเฉพาะคดีล่าสัตว์จากเดิม 15 คดี เหลือเพียง 2 คดี รวมถึงรายงานการแก้ไขปัญหาที่ดินการสำรวจการครอบครองที่ดินทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งได้ทำการสำรวจถือครองที่ดินจำนวน 3,984 ราย 5,584 แปลง 85,571.44 ไร่ ในพื้นที่ 26 หมู่บ้าน แบ่งเป็นเขตบริหารจัดการ 483 เขต นอกจากนี้ยังได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านพักนักท่องเที่ยว ห้องน้ำ ห้องสุขา และพัฒนาระบบสื่อความหมายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มอบนโยบายในการปฏิบัติงานโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการทำงานจะต้องตอบโจทย์ประชาชนว่าได้รับประโยชน์อะไรในด้านใดบ้างจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยยังได้เน้นย้ำให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เร่งดำเนินการตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่การถือครองที่ดินของราษฏร โดยการลงไปปักหลักหมายแนวเขตในพื้นที่จริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2565 เพื่อให้ได้เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ นำเสนอเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ยังได้มอบถุงยังชีพให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งปลูกต้นพะยูงไว้เป็นที่ระลึก และตรวจเยี่ยมสะพานสลิงข้ามลำน้ำเข็ก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง

สำหรับ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพันธุ์ไมและสัตว์ป่า ที่มีค่านานาชนิด อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย คลองวังทอง คลองชมพู ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2502 กำหนดให้ป่าทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 3 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2506 มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ 2 จังหวัด คือ อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง ในเขตจังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยชื่อ “ทุ่งแสลงหลวง” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ต้นแสลงใจ คาดว่าสมัยก่อนมีพันธุ์ไม้ ชนิดนี้ขึ้นเป็นจำนวนมากประกอบไปด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆต่ำ สลับกับพื้นที่ป่าไม้หลายชนิดและสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า “ทุ่งแสลงหลวง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด