• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ปลัดฯ จตุพร ติดตามการกำจัดวัชพืชหนองหาน ขหล.หนองหานกุมภวาปี กำชับให้ความสำคัญระบบนิเวศ

วันที่ 12 มิถุนายน 2565 นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) นายชัชวาล นามแสง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี จ.อุดรธานี เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานและสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี และการดำเนินงานโครงการกำจัดวัชพืชหนองหาน ติดตามการดำเนินงานโครงการกำจัดวัชพืชโดยใช้เรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบก โดยปลัดฯ จตุพร ไดเเน้นย้ำ การดำเนินงานต้องรอบคอบ รัดกุม คำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ณ บ้านเชียงแหว หมู่ที่ 2 ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ หนองหานกุมภวาปี มีพื้นที่ประมาณ 45 ตร.กม. (28,125 ไร่) อยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปีเป็นส่วนใหญ่และบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอประจักษ์ศิลปาคม เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัด ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปี ถูกจัดให้อยู่ในประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยพงหญ้าขึ้นแฉะ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำหนองหาน มีปัญหาดินตะกอนทับถม แหล่งน้ำตื้นเขิน และมีวัชพืชหนาแน่น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ จึงได้ดำเนินโครงการกำจัดวัชพืชหนองหาน โดยใช้เรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบก เพื่อช่วยรักษาระบบนิเวศทางน้ำ รักษาแหล่งผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรของประชาชนในพื้นที่รอบหนองหานกุมภวาปี ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 280 ครัวเรือน รวมถึงเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำแล้ง – น้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้าน ทั้งยังได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำด้านการพัฒนา อนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟู แหล่งน้ำสาธารณะ และกระจายน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน สำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด