• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ จับมือ ซีพี-เมจิ เดินหน้าปลูกป่า 16,000 ต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวจำนวนกว่า 80 ไร่

วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เป็นประธานเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2565 ภายใต้โครงการ ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน โดยมี ว่าที่ ร.ท.รุ่งศักดิ์ ขุนวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี และ ผู้บริหารบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด นำโดย นางสาวชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ประชาชน เครือข่ายจิตอาสา ร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาวงจันแดง หมู่7 บ.หัวลำสุด ต.หัวลำ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี

ว่าที่ ร.ท.รุ่งศักดิ์ ขุนวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวว่า การปลูกต้นไม้ในวันนี้เป็นการลงมือปฏิบัติจริง หลังจากที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรมอุทยานฯ และ ซีพี-เมจิ เมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งของชุมชนโดยรอบพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง การปลูกต้นไม้ 600 ต้นในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อขยายผลสู่เป้าหมาย16,000 ต้นในพื้นที่ 80 ไร่ ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาวงจันแดง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของ คลองลำพญากลาง คลองลำสนธิ และแม่น้ำป่าสัก ที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง ได้นำไปใช้ในการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรอีกด้วย

นางสาวชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด การเพิ่มคุณค่าชีวิตให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม และสิ่งแวดล้อม ซี่งในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ซีพี-เมจิ ได้ริเริ่มโครงการ “ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ รักแผ่นดิน” และมีการสร้างความร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ มาตั้งแต่ปี 2564 ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต่อเนื่องมาถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาวงจันแดง จังหวัดลพบุรี ในปี 2565 พื้นที่รวม 150 ไร่ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครบจำนวน 1,000 ไร่ ในปี 2573 สอดรับกับเป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด