• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ในวันที่ ‘ขุนไกร’ ลูกเลียงผากำพร้าพลัดจากอกแม่ ได้เวลากลับป่าใหญ่คืนสู่ธรรมชาติ

“ขุนไกร” ลูกเลียงผาพลัดหลงจากอกแม่ ด้วยสถานการณ์ถูกฝูงสุนัขจิ้งจอกไล่ล่า ด้วยความตกใจระคนความหวาดกลัว มันซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ เมื่อฝูงสุนัขจิ้งจอกจากไป และมั่นใจว่าสถานการณ์ปลอดภัย มันเดินออกมา แต่ทว่า แม่ของมันได้หายไปแล้ว ความหวาดกลัวและความหว้าเหว่ที่ต้องสู้ชีวิตในป่าใหญ่ถาถมเข้ามาในหัวใจทันที มันตัดสินใจซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ต่อ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม ออกลาดตระเวนและพบเจอเจ้าขุนรามโดยบังเอิญ และทำการต้อนให้เจ้าเลียงผาน้อยกลับเข้าสู่ป่าลึก แต่ทว่า หลังจากเจ้าหน้าที่หันหลังกลับ มันก็เดินตามออกจากป่า เสมือนว่าเจ้าหน้าที่เป็นแม่คนที่สอง ความรักและความหวังของเจ้าขุนไกร คงกลับมาเต็มเปี่ยมในหัวใจอีกครั้ง

ตั้งแต่นั้นมา “ขุนไกร” ลูกเลียงผา เพศผู้ ที่พลัดหลงแม่จึงถูกนำมาเลี้ยงไว้ชั่วคราวที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม หมู่ 7 ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 การดูแลลูกสัตว์ป่าที่ยังไม่หย่านมเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับหมอและพี่เลี้ยง ในขณะนั้นขุนไกรอายุยังไม่ถึง 1 เดือน “พี่แมว” พี่เลี้ยงที่คอยดูแลและประคบประหงมขุนไกรให้เติบโตมาได้ ความทุ่มเทความเอาใจใส่ของพี่แมว ช่วยทำให้หมอทำงานได้สะดวก และสบายใจอย่างยิ่ง ในคราวที่ขุนไกรป่วย พี่แมวคอยรายงานอาการตลอด 24 ชม. เข้าไปผูกเปลนอนที่คอกทุกคืนเกือบ 3 – 4 เดือน และในทุกๆวัน พี่แมวต้องคอยสังเกตอุจจาระ ปัสสาวะ พฤติกรรม อาหารที่กิน ปริมาณนมที่ป้อนของขุนไกรส่งรายงานให้หมอ และหัวหน้าเขตฯ ตลอดระยะเวลา 1 ปี

ล่าสุด นายบรรณดิษฐ วรรณทอง หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำเจ้าราม เปิดเผยว่า ตอนที่พบขุนไกรครั้งแรกมีน้ำหนักตัวประมาณ 4.7 กิโลกรัม ความสูง 15 เซนติเมตร ต่อมาหลังจากนั้นประมาณ 5 เดือน ตัวใหญ่ขึ้น หนัก 30 กิโลกรัม สูง 80 เซนติเมตร แข็งแรงสมบูรณ์มาก มีพฤติกรรมร่าเริง ขี้เล่น ชอบประลองกำลัง ทั้งดันทั้งชนพี่เลี้ยงที่คอยดูแล ปัจจุบันปรับเรื่องการกิน ลดนมแพะเหลือวันละ 3 กระป๋อง เน้นให้กินอาหารหยาบมากขึ้น เช่น กล้วย หญ้าสด ใบไม้ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

“หมอฟ้า” สพ.ญ.สุภกานต์ แก้วโชติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ได้วางแผนที่จะลดการเข้าหาของคน ให้เหลือเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้สัมผัสและดูแลขุนไกรไปจนถึงวันที่เขาต้องกลับสู่ป่าใหญ่ โดยให้หย่านมในช่วงปลายปี 2564 ในขณะนั้นอายุได้เกือบ 10 เดือนแล้ว และขุนไกรเรียนรู้ที่จะกินใบไม้ หญ้า ผลไม้ในพื้นที่ดูแลได้เป็นอย่างดี

ช่วงต้นปี 2565 ความเริ่มเป็นหนุ่ม ความเริ่มอยากรู้อยากเห็น ความเล่นแรงๆ วิ่งชนหมอ ชนพี่แมว จนเขียวช้ำทุกครั้งที่เข้าไปหา ขุนไกรเริ่มแหกคอกออกมาบริเวณภายนอกบ่อยขึ้น แต่ยังคงวนเวียนใกล้ๆกับบ้านพักเจ้าหน้าที่มีเพียงพี่แมวคนเดียวที่จะเรียกหาได้ นั่นคือสัญญาณที่ทำให้พวกเรารู้ว่า ขุนไกรพร้อมที่กลับเข้าสู่ป่า เพื่อใช้ชีวิตอย่างที่เขาควรจะเป็น!!

เจ้าหน้าที่ได้การวางแผนขยายคอกอย่างเป็นขั้นตอน และรับรู้จากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เปิดคอกออกสู่พื้นที่ป่าภายในเขตฯ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยขุนไกรหายไปสำรวจพื้นที่บริเวณนั้น 2-3 วัน ก็กลับมาบ้าง เรารับรู้ได้จากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ภายในคอกอนุบาลเก่า หลังจากนั้นระยะห่างก็นานขึ้น

จน ณ วันนี้พวกเราก็มั่นใจและหวังว่า ขุนไกร จะได้ไปใช้ชีวิตในป่าใหญ่ สร้างครอบครัว มีลูกหลาน เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของเขาต่อไป นั่นคือสิ่งที่พวกเราตั้งมั่นในการดูแลขุนไกรตลอดระยะ 1 ปีกว่าที่ผ่านมา และยังคงเปิดคอกไว้รอเวลาที่ขุนไกร…จะแวะเวียนมาเยี่ยม พาครอบครัวกลับมาทักทายพวกเราอีกครั้ง !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด