• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ ศรีพังงา ติดตามผลการปลูก ‘ต้นพลับพลึงธาร’ พืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกใกล้สูญพันธุ์

วันที่​ 10 มีนาคม 2565 นายสันติยศ ครุยทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีพังงา เปิดเผย​ว่า​ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติศรีพังงา ที่ ศง 1 (น้ำตกสวนใหม่) ติดตามผลพร้อมปลูกต้นพลับพลึงธาร พืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ จำนวน 50 ตะกร้า หรือ 500 ต้น บริเวณคลองห้วยทรัพย์ หมู่ที่ 6 ต.คุระ อ.คุระบุรึ จ.พังงา ผลการติดตาม ผลปรากฏต้นพลับพลึงธาร เจริญเติบโตตามธรรมชาติ

พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ (อังกฤษ: Onion plant, Thai onion plant, Water onion) พืชน้ำชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์: Crinum thaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นพืชเฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใหนในโลก ปัจจุบันพบเหลือแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี ค.ศ. 2011 สาเหตุของการลดลงเนื่องจาก การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

พลับพลึงธารมีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “หัวหญ้าช้อง” ปัจจุบันนิยมเรียกว่าพลับพลึงธาร มากกว่าหอมน้ำ เพราะมีดอกคล้ายดอกพลับพลึง แต่ขึ้นอยู่ในน้ำ ซึ่งสถานะของพลับพลึงธารยังมิได้ถูกบรรจุในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES และไม่ได้รับการการคุ้มครองภายใต้กฎหมายใดใดในประเทศไทย และแม่น้ำลำคลองที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพลับพลึงธาร ก็ยังไม่มีกฎหมายใดใด ให้การคุ้มครอง อย่างไรก็แล้วแต่ ในระดับพื้นที่ ชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้านที่พบพลับพลึงธาร ได้มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟู และมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ห้ามการขุดหาหัวพลับพลึงธารเพื่อการค้า เช่น ชมรมเพลินไพรศรีนาคา กลุ่มอนุรักษ์คลองบางปรุ กลุ่มอนุรักษ์บ้านห้วยทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์บ้านนายทุย และกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางซอย พลับพลึงธารบ้านบางวัน เป็นต้น ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำอันดามันตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด