วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายสุพจน์ ภู่รัตนโอภา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เปิดเผยว่าได้รับรายงานจาก นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ว่าเจ้าหน้าที่สายตรวจส่วนกลางประจำอุทยานแห่งชาติ ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน พบซากพะยูน บริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะมุก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ อายุประมาณ 20 ปีขนาดความยาว 254 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 295 กิโลกรัม ลำตัวกว้าง 36 เซนติเมตร ครีบหน้ากว้าง 42 เซนติเมตร ครีบหลังกว้าง 82 เซนติเมตร
เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้นำข้อมูลมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.อำเภอกันตัง และได้ส่งมอบซากพะยูนตัวดังกล่าวไห้กับทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง เพื่อทำการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายต่อไป
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ควอล.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เปิดเผยว่า เบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะยูน (Dugong dugon ) เพศผู้ ความยาวลำตัววัดแนบ 274 ซม. ขนาดโตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ความสมบูรณ์ทางโภชนะปานกลางถึงค่อนข้างอ้วน BCS = 3-4/5) สภาพซากสด ลักษณะภายนอกพบรอยเขี้ยวจากพฤติกรรมฝูงของพะยูน ทั่วลำตัว เขี้ยวยังอยู่ครบทั้ง2 ข้าง ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยจากการถูกเครื่องมือประมง ทางเจ้าหน้าที่ศวอล.ได้ทำการชันสูตรซากเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่ากล้ามเนื้อไม่มีรอยช้ำ พบน้ำสีเหลืองขุ่นในช่องอกและช่องท้องปริมาณเล็กน้อย ส่วนของหัวใจพบลักษณะไขมันสีเหลืองครีมเกาะผนังและกล้ามเนื้อหัวใจภายนอก ภายในกล้ามเนื้อหัวใจสีซีดไม่มีเลือดคั่ง บ่งบอกถึงสภาวะผิดปกติของหัวใจ ส่วนของปอดเนื้อเยื่อปอดเริ่มเน่า บวม สีซีด เนื้อปอดลอยน้ำ หลอดลมพบฟองอากาศและมีไข่พยาธิภายในหลอดลมเล็กน้อย ส่วนของทางเดินอาหารทบอาหารอัดแน่นในกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นหญ้าทะเลส่วนใหญ่ และพบปื้นเลือดออกที่บริเวณผนังลำไส้เล็กบางส่วน
สรุปสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่าสัตว์ป่วยตามธรรมชาติเนื่องจากภาวะไขมันพอกหัวใจ บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบหัวใจ ส่งผลให้การทำงานของหัวใจปกติและหัวใจขาดเลือด ทำให้สัตว์ช็อกและเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ โครงกระดูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป