วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ติดตามการปฏิบัติงานตามโครงการควบคุมประชากรลิงแสม พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ วัดเขาพรหมชะแง้ ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายวันชัย สิงห์โต ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี คณะสัตว์แพทย์ร่วมลงพื้นที่เพื่อการดำเนินการตามโครงการฯ
นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการควบคุมประชากรลิงแสม ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่า รวมไปถึงการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ป่า และแผนการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งบริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการรบกวนจากประชากรลิงแสม ซึ่งจำนวนประชากรลิงในพื้นที่แต่ละอำเภอโดยเฉพาะอำเภอบ้านลาด นั้น มีประชากรลิงไม่ต่ำกว่า 1,000-1,500 ตัว ซึ่งอำเภอบ้านลาดมีพื้นที่ติดกับเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี มีจำนวนประชากรลิงแสม มากถึงประมาณ 3,000 ตัว และมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สร้างความเดือดร้อน รบกวนประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในจังหวัดเพชรบุรี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี จึงได้จัดทำโครงการ การควบคุมประชากรลิงแสมบริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและได้รับความเห็นชอบในการอนุมัติโครงการ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกิจกรรมหลักเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นเมืองน่าอยู่ ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม วงเงินงบประมาณ 1,127,200 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนสองหมื่นเจ็ดพันสองร้อยบาทถ้วน) ทั้งนี้ได้ดำเนินการดักจับลิงแสม จำนวน 600 ตัว โดยในพื้นที่วัดเขาพรหมชะแง้ ตำบลถ้ำรงค์ นั้น ดำเนินการดักจับและทำหมันลิงแสมทั้งสิ้น จำนวน 200 ตัว พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์โรคในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนลิงที่ทำหมัน โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้เริ่มปฏิบัติงานดำเนินการทำหมันพร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเลือด ลิงแสมแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และจะดำเนินการตลอดทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนแล้วเสร็จโครงการ
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย สัตวแพทย์จากกลุ่มการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย และสัตวแพทย์จาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ซึ่งทั้งหมดจะได้ร่วมมือในการดำเนินการทำหมันลิงแสม พร้อมทั้งดำเนินการสักหมายเลขประจำตัวให้กับลิงแสมที่จับทำหมัน โดยลิงเพศผู้จะสัก ที่บริเวณต้นแขนด้านใน ที่แขนซ้าย และลิงเพศเมียจะสักที่แขนขวา พร้อมทั้งสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์โรค ทั้งนี้ยังสามารถจับลิงเผือกเพศเมียได้จำนวน 1 ตัว เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการทำหมัน แต่ได้เจาะเก็บเลือดเพื่อตรวจสุขภาพและเก็บเป็นฐานข้อมูลและปล่อยคืนสูธรรมชาติต่อไป