• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อช.เขาคิชฌกูฏ คุมเข้มโควิดเปิดให้นมัสการรอยพระพุทธบาท ย้ำจองผ่าน QueQ เท่านั้น

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายชวินทฐ์ ปิ่นแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ร่วมกับ จังหวัดจันทบุรี เตรียมจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฎ) ประจำปี 2565 ในระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 2 เมษายน 2565 ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อนุญาตให้จัดงานประเพณีดังกล่าวได้ รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรี ได้อนุมัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

โดยเปิดให้ผู้แสวงบุญที่จะมานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงตามประเพณี ซึ่งผู้แสวงบุญทุกคนจะต้องมีแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม เพื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และหลักฐานการตรวจโควิดภายใน 72 ชั่วโมง ต้องเป็นใบรับรองผลตรวจว่าไม่พบเชื้อ โดยจะต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย คลินิค หรือร้านขายยา ไม่สามารถนำเอาผลที่ตรวจด้วยตนเองมาแสดงได้ รวมถึงต้องจองคิวเข้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ผ่านระบบ QueQ เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามมาตรการ D M H T T A อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ได้กำหนดมาตรการเว้นระยะห่างจำกัดจำนวนผู้แสวงบุญที่จะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท ต่อช่วงเวลา 1 วัน แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาได้แก่ช่วงเวลา 00.00 น. – 06.00 น. ช่วงเวลา 06.00 น. -12.00 น.ช่วงเวลา 12.00 น. – 18.00 น. และช่วงเวลา 18.00 น. – 24.00 น. โดยแต่ละช่วงเวลาจะรับผู้แสวงบุญได้ 4,000 คน และใน 1 วัน จะมีผู้แสวงบุญไม่เกิน 16,000 คน ส่วนผู้แสวงบุญที่ประสงค์จะเดินขึ้นนมัสการฯทางบ้านแกลง ได้กำหนดให้ขึ้นทางบ้านพลวง (หน่วย คก.1) จำนวน 100 คนต่อวัน รถยนต์บริการบรรทุกไม่เกิน 8 คนต่อคัน ผู้แสวงบุญที่มากลุ่มเดียวกันนั่งรถคันเดียวกัน นั่งด้านหลัง ไม่นั่งร่วมกับคนขับ

แฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ

“รอยพระพุทธบาทพลวง” หรือ “รอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ” นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากรอยพระพุทธบาทดังกล่าวประดิษฐานอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2397 แต่ผู้ที่มาบุกเบิกเปิดตำนานรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ให้คนรู้จักคือ “หลวงพ่อเขียน” โดยในปี พ.ศ. 2515 ได้บุกเบิกทางขึ้น และนำรถยนต์ขึ้นเขาเป็นครั้งแรกก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบันรอยพระพุทธบาทพลวงขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และมีความเชื่อว่าผู้ที่เดินขึ้นไปถึงยอดเขาซึ่งมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่นั้นจะได้บุญสูง อีกทั้งยังเชื่อกันว่า การได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนยอดเขาคิชฌกูฏ เปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา ถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีพุทธศาสนิกชนนับแสนหลั่งไหลมาสักการะรอยพระพุทธบาทด้วยความศรัทธาเป็นจำนวนมหาศาลในทุก ๆ ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด