• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สัตวแพทย์เผยความคืบหน้ารักษา “คุณปู่ป่าละอู” ช้างป่าแก่งกระจาน 

วันที่ 21 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เครือข่ายต่างๆ ได้ทำการรักษาช้างป่าคุณปู่ป่าละอูครั้งแรก เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม 2565 การรักษาระยะใกล้พบว่ามีบาดแผลบริเวณลำตัวหลายจุด โดยเป็นบาดแผลจากการต่อสู้และถูกยิงหลายแห่ง แผลค่อนข้างลึก ติดเชื้อในกระแสเลือดระดับรุนแรง มีหนองไหลจากแผลบริเวณท้ายลำตัว ร่างกายอ่อนแอ ซูบผอม ประกอบกับช้างป่าที่อายุมากแล้ว อาการจึงอยู่ในภาวะวิกฤติ

ล่าสุด ทีมสัตวแพทย์นำโดย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากส่วนกลางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) ทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย เจ้าหน้าที่​ทหารเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า(WCS) ประเทศไทย และนายประจิน เสียงเพราะ รองนายก อบต.ป่าเด็ง โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ได้ผ่านการตรวจ ATK Covid-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยในช่วงเช้าได้มีการประชุม วางแผนการช่วยเหลือ ที่ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ณ ป่าละอู และมีการลงพื้นที่ติดตามอาการ รักษาช้างป่า คุณปู่ป่าละอู บริเวณ บ้านป่าแดง ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำกระหร่าง 3 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หมู่ 3 ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นได้ทำการวางยาซึม เพื่อทำการรักษา แต่ด้วยสภาวะร่างกายของช้างป่าจากผลการตรวจเลือดครั้งที่แล้วพบว่าช้างป่าค่อนข้างอ่อนแอ มีภาวะติดเชื้อทั่วร่างกาย โลหิตจาง ค่าไตและตับขึ้นสูงมาก จึงทำให้การเข้าถึงตัวเพื่อค่อนข้างมีอุปสรรค หลังจากให้ยา ช้างป่าได้ล้มตัวลงนอนกับพื้น ซึ่งบริเวณที่ช้างล้มตัวนอนนั้นเป็นร่องพื้นภายในป่า การล้มนอนของช้างที่อยู่ในลักษณะที่หัวต่ำกว่าตัวเสี่ยงต่อภาวะสำลักและอาจมีภาวะอื่นๆแทรกซ้อนตามมา อาจทำให้ช้างเสียชีวิตได้

สำหรับการรักษาได้มีการเก็บเลือดเพื่อติดตามสภาวะของร่างกายปัจจุบัน ให้ยาปฏิชีวนะ ยาบำรุง สารน้ำ และยากำจัดปรสิต ซึ่งบาดแผลของช้างที่พบในวันนี้มีหนองลักษณะข้นไหลออกจากบาดแผลที่ด้านหลังทั้ง 2 แผล เป็นโพรงเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อลึกประมาณ 2-3 ฟุต ซึ่งคาดว่าเป็นรอยจากการต่อสู้ ส่วนแผลที่บริเวณหัว และบริเวณกลางลำตัว ตรวจด้วยเครื่องตรวจโลหะพบว่ามีโลหะอยู่ภายในบาดแผลทั่วทั้งร่างกาย โดยทีมสัตวแพทย์ได้ทำการล้างแผลและพบกระสุนภายในบาดแผลจึงได้ทำการนำกระสุนออกเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าเป็นกระสุนลูกปืนซองลูก 9 หรือ OO Buckshot

อย่างไรก็ตามปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้เวลาตั้งแต่ช้างล้มจนทำแผล ให้ยาเสร็จเรียบร้อย ดำเนินการทุกอย่างในภาวะฉุกเฉินได้ครบถ้วน เป็นเวลา 20 นาที ด้วยการทำงานที่เป็นทีม มีระบบ ช้างป่า คุณปู่ป่าละอู สามารถฟื้นตัวและเดินกลับเข้าป่าได้ และหากินปกติ

ทั้งนี้ สาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ช้างป่าถูกทำร้าย เกิดจากการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ป่าละอูและป่าเด็ง มีความรักและเข้าใจต่อสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และการแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาช้างในในพื้นที่ก็กำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้คนและช้างป่าอยู่ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เกื้อกูลกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด