“เสือ” เป็นสัตว์ที่อยู่ในตำแหน่งบนสุดของห่วงโซ่อาหาร เรียงลำดับความสัมพันธ์ในวงจรชีวิตของ สัตว์ป่าแสดงตำแหน่งการเป็นผู้ล่าอันดับแรกของห่วงโซ่อาหารของเหล่าบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ ดังนั้น ผืนป่าแห่งไหนยังมีเสือนั่นหมายถึงป่านั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะยังมีอาหารให้เสือสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จากการเจริญเติบโตของสังคมมนุษย์ทั่วโลกการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ การเพิ่มพื้นที่ทำกินด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพื่อทำการเกษตรหรือกิจกรรมอื่น เป็นการทำให้อัตราการลดลงของสัตว์ป่าน้อยใหญ่
รวมถึงจำนวนของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง ส่งผลกระทบให้จำนวนเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็ว จากการประมาณ ใน ค.ศ. 2015 คาดว่าประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือเพียง 3,062 ถึง 3,948 ตัว ใน 13 ประเทศ ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ได้แก่ 1.อินเดีย 2.ภูฏาน 3.บังคลาเทศ 4.รัสเซีย 5.เนปาล 6.จีน 7.อินโดนีเซีย (สุมาตรา) 8.ลาว 9.มาเลเซีย 10.พม่า 11.กัมพูชา 12.มาเลเซีย และ 13.ประเทศไทย ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุด
จากสถานการณ์การลดลงของจำนวนประชากรเสือโคร่งของโลก ในปี พ.ศ. 2553 กลุ่มประเทศ 13 ประเทศ ที่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยจัดการประชุมเพื่อวางแผนและให้คำมั่นสัญญาว่าจะอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรก และการประชุมตามลำดับ ดังนี้
การประชุมครั้งที่ 1 The 1st AMC on Tiger Conservation ในเดือนมกราคม 2553 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งทั้ง 13 ประเทศ ประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย การประชุมครั้งนั้นได้จัดทำปฏิญญาหัวหิน (Hua Hin Declaration on Tiger Conservation) อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางนโยบายและการเมืองของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง เพื่อความร่วมมือในการอนุรักษ์เสือโคร่งในธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายเพิ่มประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเป็น 2 เท่า ภายในปี 2565
การประชุมครั้งที่ 2 The 2nd AMC on Tiger Conservation ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2555 ณ เมืองทิมพู ประเทศภูฏาน ครั้งนี้ประเทศไทยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวิทยา พุกกะมาน) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ที่ประชุมได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการ 9 ข้อ สำหรับการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งภายในระยะเวลา 2 ปี (ถึงปี 2557) ดังนี้
- เร่งสร้างขวัญและกำลังใจ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มากขึ้น
- ปกป้องคุ้มครองแหล่งอาศัยของเสือโคร่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบลาดตระเวนแผนใหม่ (Smart Patrol)
- เพิ่มการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันคุณประโยชน์ด้านการอนุรักษ์กับชุมชน
- เร่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีเสือโคร่ง ด้านการจัดการผืนป่าระหว่างประเทศ การสร้างแนวเชื่อมต่อผืนป่า และการป้องกันการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
- ให้การสนับสนุนการปล่อยเสือโคร่งคืนสู่ป่าธรรมชาติในประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งต่ำ
- เร่งจัดหางบประมาณไปสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่
- สร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
- จัดทำยุทธศาสตร์และสร้างนวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์เสือโคร่ง และการให้ความสำคัญกับคุณค่าของพื้นที่อนุรักษ์เสือโคร่งระดับโลกและระดับประเทศ
- พัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งระดับประเทศ ระยะเวลา 2 ปี พร้อมทั้งจัดทำเกณฑ์และตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการระดับชาติและระดับโลก
การประชุมครั้งที่ 3 The 3rd AMC on Tiger Conservation ณ สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 12 – 14 เมษายน 2559 โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานรัฐบาล 13 ประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง และหน่วยงานองค์กรด้านการอนุรักษ์ สำหรับประเทศไทยมีเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม และได้รับรองมติที่ประชุมนิวเดลี (New Delhi Resolution) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
- เร่งดำเนินการตามแผนแห่งชาติเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (NTRP) และแผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของโลก (GTRP)
- ปรับกลยุทธ์การพัฒนาที่ให้ความสำคัญว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่งโดยการพัฒนาต่าง ๆ และการอนุรักษ์เสือโคร่งสามารถดำเนินร่วมกันได้ในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
- กระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนด้านเงินทุนและวิชาการจากทุกภาคส่วน
- เสริมสร้างความสำคัญของพื้นที่ถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง
- ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรเสือโคร่งต่ำ
- เสริมสร้างความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงให้เข้มแข็ง
- เสริมสร้างการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้และการพัฒนาแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การประชุมครั้งที่ 4 The 4th AMC on Tiger Conservation ระหว่างวันที่ 19 – 21 มกราคม 2565 ณ ประเทศมาเลเซีย เป็นการประชุมผ่านระบบสื่อสารทางไกล โดยประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ โดยวันที่ 19 – 20 มกราคม 2565 เวลา 12.00 – 17.00 น. เจ้าหน้าที่อาวุโสหรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศ (Country report) และร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Draft Kuala Lumpur Joint Statement on Tiger Conservation) และพิจารณาแผนปฏิบัติการและงบประมาณ South East Asia Tiger Recovery Action Plan (STRAP) เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Financing Plan for Tiger Conservation)
จากนั้น วันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 13.00 น. ผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมในการประชุม โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม กล่าวต้อนรับ ประธาน Global Tiger Forum (GTF) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศภูฏาน กล่าวถ้อยแถลง จากนั้นรัฐมนตรีของประเทศถิ่นอาศัยของเสือโคร่งกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศ จากนั้น นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียกล่าวถ้อยแถลง (Officiating Speech) และเปิดตัวเริ่มดำเนินการเรื่อง Kuala Lumpur joint Statement on Tiger Conservation/ Resource Mobilization Assessment/ STRAP
ในส่วนประเทศไทยได้วางแผนการดำเนินการอนุรักษ์เสือโคร่งในอนาคต ไว้ดังนี้ Action 1 Strengthen transboundary collaboration on the management and conservation of
tiger and their habitat. เพิ่มศักยภาพการให้ความร่วมมือระหว่างพรหมแดนสำหรับการจัดการและการอนุรักษ์เสือโคร่งและถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง Action 2 Promote transboundary collaboration on the combating of wildlife trafficking. ส่งเสริมการร่วมมือระหว่างพรหมแดนสำหรับการป้องกันการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย Action 3 Improvement capacity of the Regional Tiger Conservation Training Center. เพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้วยการส่งเสริมการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค
การประชุมรัฐมนตรีประเทศเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 The 4th AMC on Tiger Conservation ที่จัดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย ครั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชีย ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับนักอนุรักษ์ระดับโลก การเป็นสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ระดับโลก ในการป้องกันการลักลอบล่าและการค้าเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ผิดกฎหมาย ได้มีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่มีมาตรฐานระดับสากล ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่สำคัญชนิดอื่น จากกองทุนและองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก การเป็นศูนย์กลางในการวิจัยการสร้างระบบติดตามประเมินประชากรเสือโคร่ง และการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และวิจัยเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก