• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ น้ำตกห้วยยาง ช่วยชีวิต ‘หมูป่า’ ติดบ่วงแร้ว ลาดตระเวนพบบ่วงดักสัตว์กว่า 50 จุด

วันที่ 10 มกราคม 2565 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง ได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่สายตรวจส่วนกลางชุดที่ 1 ลาดตระเวนเชิงคุณภาพตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เส้นทางบริเวณป่าหินเทิน หหมู่ 5 ต.แสงอรุณ  อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

โดยจากการลาดตระเวพบหมูป่าติดบ่วงแร้ว จำนวน 1 ตัว จึงได้ทำการช่วยชีวิตโดยการปลดแร้วที่ติดบริเวนขาหน้าออก ซึ่งจากการสังเกตุที่ขา พบว่าไม่มีแผล และขาไม่ได้หักแต่อย่าใด จึงได้ปล่อยสู่ธรรมชาติต่อไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลาดตระเวนปูพรมเพื่อค้นหาบ่วงแร้วที่เหลือ พบบ่วงแร้วเชือกพร้อมใช้งานอีกจำนวน 50 อัน จึงได้ทำการเก็บกู้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้ยังได้จับกุมตัวนายอนุชาพร้อมอาวุธปืนเข้ามาในเขตอุทยานโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย​ต่อไป​

แร้วดักสัตว์ คือชื่อที่ใช้เรียกเงื่อนที่มีลักษณะเป็นบ่วงรูดซึ่งจะกระตุกหรือทำงานเมื่อมีสัตว์ผ่านเข้ามาในห่วง โดยพรานที่ล่าสัตว์จะนำบ่วงไปไว้ในทางที่สัตว์เดินผ่านไปมา หากสัตว์เดินหรือเหยียบกลไกนั้น บ่วงก็จะกระตุกไปรัดตัวสัตว์ เมื่อสัตว์เตะกับบ่วงที่ดักไว้ บ่วงจะรัดแน่น สัตว์ก็จะยิ่งดึงเพื่อสลัดให้หลุดทำให้บ่วงยากที่จะคลาย จนกินเข้าไปในเนื้อเกิดบาดแผล บ่วงในลักษณะเหล่านี้จะไม่เลือกสัตว์ มันจึงดักสัตว์ได้แทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกวาง หมูป่า หรือ วัวแดง บางบ่วงก็แขวนไว้ตามกิ่งไม้เพื่อคล้องกับหัวสัตว์ หรือต่อให้ไม่คล้องโดนหัว บ่วงก็ต้องติดกับเขาสัตว์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ทำให้สัตว์ไปไหนไม่ได้

ในอดีต อุปกรณ์ที่ใช้ทำบ่วงนั้นจะเป็นเชือกที่มีโครงแข็งเพื่อให้สามารถกางเป็นวงกลมได้ไม่ยุบตัวเหมือนเชือกผ้า หากเชือกไม่กางต้องทำคานค้ำโดยใช้ไม้ง่ามปัก แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ลวดสลิงในการดัก เพราะลวดมีความเหนียวเป็นทรงกว่าเชือกและยากแก่การกัดหรือดิ้นให้หลุด ลวดยังมีความน่ากลัวอีกอย่างคือ มันจะกินเข้าไปในเนื้อไม่ต่างจากคมมีดเมื่อกระตุกอย่างรุนแรง ลวดนั้นจะคมจนเจาะผ่านเนื้อ ซึ่งลักษณะการทำงานของบ่วงดักสัตว์นั้นไม่ว่าจะเป็นลวดหรือเชือกล้วนแล้วแต่มีลักษณะการทำงานแบบเดียวกัน

“ยิ่งดึงยิ่งแน่น” สัตว์ที่ติดบ่วงนั้นก็จะทุกข์ทรมานเนื่องจากไปไหนไม่ได้และอดอาหารจนเสียชีวิต หากไม่เสียชีวิต แผลที่ข้อเท้าก็จะติดเชื้อเป็นหนอง แม้กระทั่งช้างก็ยังติดบ่วงเหล่านี้ และเนื่องจากบ่วงแขวนอยู่บนต้นไม้ การจะดึงให้
หลุดก็ยากเพราะสัตว์ออกแรงไปด้านหน้าแต่บ่วงแขวนอยู่สูงกว่าแรงดึงกลับจะฉุดให้สัตว์ล้ม หรือหากดึงให้หลุดได้สัตว์เหล่านั้นก็พิกลพิการไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด