วันที่ 5 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 และ พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง รอง ผอ.รมน.จังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานร่วมในพิธีปล่อยกำลังพลการบูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพนมทอง เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้มีค่าและการล่าสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติใกล้เคียง ท้องที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พ.ต.กฤช เพ็ชรกระจ่าง รองหัวหน้าฝ่ายประสานการปฏิบัติ กอ.รมน. จังหวัดพิษณุโลก กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามสังกัด สบอ.11 ในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ สจป.ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ตลอดจนผู้นำชุมชนและราษฎรในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ประธานในพิธีได้ปล่อยแถวกำลังพลรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการใช้พารามอเตอร์ (ร่มบิน) โดยบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพนมทอง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก ในการนี้ ประธานในพิธี ได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมมอบเสบียงอาหารสำหรับใช้ในการยังชีพในการออกปฏิบัติหน้าที่ และได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง และปล่อยพันธุ์ปลาที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมประมง ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพนมทอง
สำหรับการเปิดบูรณาการครั้งนี้ จากการติดตามและประเมินสถานการณ์การลักลอบกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากสถิติคดีเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ บุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า ย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2564 ปรากฏว่าสถิติคดีดังกล่าวทั้งหมดมีแนวโน้มลดลง แต่มีข้อสังเกตว่า คดีเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้มีค่าและล่าสัตว์ป่า จะมีการกระทำความผิดซ้ำในบริเวณพื้นที่เดิม โดยเฉพาะพื้นที่แนวเขตรอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์
สบอ.11 (พิษณุโลก) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมีภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรฯ และกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ในการป้องกัน ปราบปราม การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม จึงได้บูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพ เฝ้าระวังป้องกันภัยคุกคาม โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการกำหนดพื้นที่ล่อแหลมและพื้นที่เสี่ยงในการลักลอบตัดไม้มีค่าและล่าสัตว์ป่า โดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เช่น การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) การใช้พารามอเตอร์ (ร่มบิน) บินตรวจสอบทางอากาศยาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน