• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ร่วมกับกองการบิน ออกตรวจสภาพป่าป้องกันการบุกรุก

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 นายหฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกับ ศูนย์การบินภาคใต้ กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินตรวจสภาพป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ภายใต้แผนปฏิบัติการบินโครงการป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการอากาศยานกับภาคพื้นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ผลการสำรวจสภาพพื้นที่ป่ามีคงความอุดมสมบูรณ์

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี–หาดท้ายเหมือง เป็นพื้นที่ทางทิศตะวันออกของชายฝั่งทะเลอันดามัน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร หรือ 45,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลลำแก่น ตำบลทุ่งมะพร้าว ตำบลท้ายเหมือง ตำบลบางทอง และตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีสภาพพื้นที่แยกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยมีถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เป็นเส้นแบ่ง คือ บริเวณหาดท้ายเหมือง ซึ่งอยู่ริมทะเลอันดามัน มีชายหาดยาวประมาณ 13.6 กิโลเมตร มีส่วนกว้างที่สุดประมาณ 1,600 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 350 เมตร ปลายสุดของหาดเป็นแหลม เรียกว่า แหลมอ่าวขาม (เขาหน้ายักษ์) ทางด้านตะวันออกของพื้นที่แห่งนี้มีคลองน้ำกร่อยขนาดใหญ่ คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองหินลาด ซึ่งมีน้ำจืดส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาลำปี และบริเวณเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เรียงตัวยาวไปตามแนวเหนือ – ใต้ เรียกว่าเทือกเขาลำปี ประกอบด้วย เขาขนิม เขาลำปี เขาโตนย่านไทร และเขาลำหลัง และมีสภาพพื้นที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้นจากประมาณ 40 – 100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณรอบ ๆ เขตอุทยานแห่งชาติสู่พื้นที่ภูเขาสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ ยอดเขาสูงสุด คือ เขาขนิมอยู่ทางด้านทิศเหนือของพื้นที่ มีความสูง 622 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เทือกเขาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น คลองลำปี คลองขนิม คลองลำหลัง คลองพลุ คลองคำนึง คลองอินทนิน และคลองบางปอ เป็นต้น

ลักษณะพื้นที่มีความลาดชัน โดยมีความลาดชันเฉลี่ยประมาณ 10 – 25% โดยมีที่ทำการอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่บริเวณหาดท้ายเหมือง ภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี นอกจากจะเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งต้นน้ำซึ่งจะไหลรวมลงสู่ลำน้ำสายสำคัญ 2 สาย คือ คลองทุ่งมะพร้าว และคลองคัน ลุ่มน้ำคลองทุ่งมะพร้าว มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 42.94 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำคลองอินทนิน ลุ่มน้ำคลองขนิม ลุ่มน้ำคลองลำปี ลุ่มน้ำคลองปะเต และลุ่มน้ำย่อยอื่น ๆ ส่วนลุ่มน้ำคลองคัน มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยลำน้ำสาขาย่อยคือ คลองคำนึง คลองนาตาคำ คลองห้วยทราย คลองห้วยกลั้ง และลำน้ำสาขาย่อยอื่น ๆ รวมพื้นที่อุทยานแห่งชาติบริเวณเขาลำปี ประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร หรือ 35,625 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณหาดท้ายเหมือง มีพื้นที่ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร หรือ 9,375 ไร่ หรือประมาณ 20% ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมดจากลักษณะภูมิประเทศในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี จะเห็นได้ว่าภูเขาบริเวณนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำสายสำคัญดังกล่าว

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ในส่วนเทือกเขาลำปี ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง หมีควาย กวาง เก้ง หมูป่า เม่น กระจง แมวดาว อีเห็น ชะมด ลิงค่าง ชะนี และนกนานาชนิด ส่วนบริเวณหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลอันดามันจะเป็นที่ราบทั้งหมด มีหาดทรายขาวตลอดตามความยาวของพื้นที่ ถัดเข้ามาบริเวณสันทราย มีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก เช่น อีเก้ง หมูป่า กระจง เม่น อีเห็น ไกป่า เหยี่ยวแดง นกออก นกกวัก นกเขา นกกินปลา และนกนางนวล เป็นต้น และที่สำคัญคือ บริเวณหาดชายทะเลท้ายเหมือง มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมากในอดีต แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลง นอกจากนั้นสัตว์น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเล ก็อาศัยอยู่ชุกชุมหลายชนิด โดยเฉพาะบริเวณป่าชายเลนคลองหินลาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลน้ำกร่อย นับตั้งแต่ กุ้ง หอย ปูและปลาชนิดต่าง ๆ บางครั้งอาจพบปลาโลมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด