วันนี้ 13 กันยายน 2464 เวลา 16.30 น. องค์การยูเนสโกจัดพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล ครั้งที่ 33 (The 33th session of the International Coordinatating Council of the Man and the Biosphere Programme : 33 rd MAB-ICC) โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางทิพวรรณ เศรษฐพรรค์ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ ร่วมการประชุมระบบออนไลน์
การประชุมสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -17 กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย โดยมี Ms.Audrey Azoulay Director general of the UNESCO เป็นประธานการประชุมฯ พิจารณารับรองการเสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑล แห่งใหม่ จำนวน 22 แห่ง เพื่อการพิจารณาบรรจุในบัญชีรายชื่อพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ของปี ค.ศ. 2021 ในส่วนของประเทศไทยได้เสนอพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาวเพื่อขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโก สำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาวและอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์คือยอดดอยหลวงเชียงดาวระบบนิเวศภูเขาหินปูนที่สำคัญของประเทศไทยและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนความเข้มแข็งของชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนของอัตลักษณ์ความเป็นเชียงดาวต่อไปในอนาคต
ยูuโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของยูเนสโก [Man and the Biosphere (MAB) Programme] ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์โดยมีพื้นที่สาธิตของโครงการดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วโลก เรียกว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ของระบบนิเวศภาคพื้นดิน ชายฝั่ง พื้นน้ำ หรือประกอบด้วยระบบนิเวศดังกล่าวรวมกันในการประกาศจัดตั้งพื้นที่สงวนชีวมณฑล กรอบบัญญัติการดำเนินงานของเครือข่ายพื้นที่สงวน ชีวมณฑลโลก (Statutory Framework of the World Network of Biosphere Reserves) ระบุว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล ถูกประกาศจัดตั้งโดยคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council of the Man and the Biosphere Programme: MAB – ICC) จากการเสนอของประเทศใด ๆ ที่ได้พิจารณาแล้ว พื้นที่สงวนชีวมณฑลยังคงอยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐพื้นที่สงวนชีวมณฑลตั้งอยู่ และอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเท่านั้น การแบ่งเขตการจัดการของพื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงเป็นเพียงการแบ่งเขตการจัดการเพื่อเป็นข้อแนะนำให้แก่หน่วยงาน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับพิจารณากิจกรรมที่จะดำเนินการในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการแสดงศักยภาพของพื้นที่ สงวนชีวมณฑลใน 3 บทบาทหน้าที่ ได้แก่ (1) บทบาทด้านการอนุรักษ์ (Conservation) เป็นพื้นที่ที่อนุรักษ์สงวนรักษาทรัพยากรพันธุกรรมชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และอนุรักษ์ระบบนิเวศ สภาพภูมิทัศน์ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ (2) บทบาทด้านการพัฒนา (Development) เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม และ (3) บทบาทด้านการสนับสนุนการวิจัยและการศึกษา (Logistic) เป็นพื้นที่ที่สามารถให้การสนับสนุนการสาธิต การฝึกอบรม และให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิจัยและตรวจสอบปัญหาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติซึ่งนับตั้งแต่การริเริ่มโครงการโดยยูเนสโก โครงการได้ผ่านการพัฒนาแนวคิดและทิศทางของโครงการตามความท้าทายที่เป็นกระแสโลกและส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ปัจจุบันมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลทั่วโลกจำนวน 701 แห่ง ใน 124 ประเทศ โดยพื้นที่สงวนชีวมณฑลในประเทศไทยมีจำนวน 4 แห่ง ดังนี้ 1) พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2519 2) พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา – คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520 3) พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2520 และ 4) พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2540