14 กรกฎาคม 2568 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หลังจากมีผลบังคับใช้มาครบ 5 ปี โดยมุ่งหวังให้กฎหมายมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นธรรมต่อประชาชน โดยมีนายยอดชาย ไวยเนตร ผู้อำนวยการกองนิติการ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน จากภาครัฐและภาคเอกชน ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯมหานคร
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า เป็นการประเมินผลว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชนหรือไม่ และมีผลกระทบที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่
“การรับฟังความคิดเห็นในวันนี้เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านระบบกลางทางกฎหมาย ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯ การสำรวจในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงการจัดประชุมในส่วนภูมิภาค โดยข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์และกลั่นกรอง เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง และนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกฎที่เกี่ยวข้องต่อไป”
นายยอดชาย ไวยเนตร ผู้อำนวยการกองนิติการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมฯ ว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น โดยยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย 3 ฉบับ ภายในปี พ.ศ. 2568 ได้แก่ พระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 สำหรับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายเหล่านี้ มีเป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งของกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ.