• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ทีมเคลื่อนย้ายช้างป่า “ตัวตึง คลองตะเกรา” วางแผนใหม่ให้ปลอดภัยทั้งช้างและคน​ ยืนยันภารกิจลดผลกระทบประชาชนในพื้นที่​

ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายช้างป่าจากตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า จังหวัดจันทบุรี เมื่อคืนวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา​ ต้องยุติภารกิจเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยหวั่นเกิดความไม่ปลอดภัยของช้างป่า แต่ทีมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำช้างป่าไปดูแลเพื่อความปลอดภัยของช้างป่า​ รวมถึงลดผลกระทบและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เปิดเผยถึงภารกิจว่า สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่คลองตะเกรา ที่ช้างป่าออกมาหากิน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือมีพฤติกรรมดุร้ายจนน่ากังวลว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตประชาชนได้ จึงวางแผนเคลื่อนย้ายกลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

หลังมีการประชุมเตรียมการเพื่อร่วมกันวางแผน​ โดยมีนายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา)ทีมสัตวแพทย์​ และเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน, เขาสอยดาว, คลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เจ้าหน้าที่ร่วมกันติดตามจนพบตัวช้างป่าทั้ง 2 ตัว (ตัวใหญ่ 1 ตัว และตัวเล็ก 1 ตัว) แต่ด้วยอุปสรรคด้านสภาพภูมิประเทศที่รถเคลื่อนย้ายช้างไม่สามารถเข้าถึงจุดที่ช้างอยู่ได้ ประกอบกับการประเมินว่าหากต้องชักลากช้างเป็นระยะทางไกลจะต้องใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง บวกกับเวลาเดินทางไปยังศูนย์ฯ อีก 3-4 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและชีวิตของช้างป่า ทีมงานจึงจำเป็นต้องตัดสินใจยกเลิกภารกิจกลางดึกเพื่อความปลอดภัยของช้างเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ทีมเฉพาะกิจอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์และวางแผนอย่างรอบคอบอีกครั้ง โดยจะนำบทเรียนจากปฏิบัติการครั้งนี้ไปปรับปรุงวิธีการ ทั้งการศึกษาเส้นทางเข้าออกอย่างละเอียด การเตรียมอุปกรณ์สนับสนุนให้พร้อมรับมือกับทุกสภาพพื้นที่ และอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการนำช้างออกจากพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินการครั้งต่อไปเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัยทั้งคนและช้าง และที่สำคัญคือสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ภายหลังการยกเลิกภารกิจ ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ร่วมกับอาสาสมัครจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา เฝ้าระวัง ติดตาม และผลักดันช้างป่าดังกล่าวให้กลับเข้าสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด