นักพฤกษศาสตร์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ – ภูกระแต อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “คำหยาดศรีสิรินธร” (𝘊𝘩𝘢𝘺𝘢𝘮𝘢𝘳𝘪𝘵𝘪𝘢 𝘴𝘪𝘳𝘪𝘯𝘥𝘩𝘰𝘳𝘯𝘪𝘢𝘯𝘢 D. J. Middleton, Tetsana & Suddee)
การค้นพบครั้งสำคัญนี้เป็นผลจากโครงการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์พืชและประเมินสถานภาพพืชสำคัญในระบบนิเวศเขาหินปูนของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand Project) โดยทีมนักวิชาการนำโดย นางสาวนัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ และคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมกับทีมลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูค้อ – ภูกระแต
หลังจากพบพืชชนิดนี้ นายสมราน สุดดี ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ทำการตรวจสอบและพบว่าเป็นพืชในสกุล Chayamaritia วงศ์ชาฤๅษี (Gesneriaceae) ซึ่งเป็นสกุลพืชที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2015 ทีมวิจัยได้ประสานงานกับ Dr. David Middleton ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษีของไทยและผู้รับผิดชอบวงศ์นี้สำหรับโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย ยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก
คำหยาดศรีสิรินธร เป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงถึง 50 เซนติเมตร มีลำต้นสั้นแนบติดกับก้อนหิน ใบเดี่ยวเรียงเวียนเป็นกระจุกรอบต้น มีรูปร่างหลากหลายตั้งแต่รูปไข่ รูปรี ไปจนถึงรูปใบหอกกลับแกมรูปรี ก้านใบยาวถึง 12 เซนติเมตร โดดเด่นด้วยดอกสีม่วงแดงเข้มที่มีความยาว 5-6 เซนติเมตร กลีบดอกบางเป็นมันเงา ด้านในมีเส้นสีเหลืองเข้ม 2 เส้น สื่อถึงความเข้มแข็งและอ่อนโยน ช่อดอกแต่ละช่อมี 2-8 ดอก และมีผลรูปขอบขนานยาว 2.5-3 เซนติเมตร พืชชนิดนี้พบขึ้นเฉพาะบนหน้าผาหินทรายที่มีร่มเงาและความชื้นสูงในป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน โดยมีประชากรขนาดเล็กในพื้นที่จำเพาะ
คำหยาดศรีสิรินธรจัดเป็นชนิดที่ 4 ในสกุล Chayamaritia ซึ่งเป็นสกุลพืชที่หายากมาก โดยทั่วโลกมีรายงานการพบเพียง 3 ชนิดก่อนหน้านี้ และในประเทศไทยเคยพบเพียง 1 ชนิด คือ คำหยาดสมิตินันทน์ [𝘊𝘩𝘢𝘺𝘢𝘮𝘢𝘳𝘪𝘵𝘪𝘢 𝘴𝘮𝘪𝘵𝘪𝘯𝘢𝘯𝘥𝘪𝘪 (B. L. Burtt) D. J. Middleton] การค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) Vol. 52 No. 2 หน้า 102-104 ปี 2024
ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ หมายเลข . 𝘛𝘦𝘵𝘴𝘢𝘯𝘢, 𝘗. 𝘗𝘶𝘶𝘥𝘫𝘢𝘢, 𝘖. 𝘒𝘦𝘳𝘥𝘬𝘢𝘦𝘸, 𝘊. 𝘏𝘦𝘮𝘳𝘢𝘵, 𝘚. 𝘑𝘪𝘳𝘢𝘬𝘰𝘳𝘯 & 𝘗𝘩𝘶 𝘒𝘩𝘰 – 𝘗𝘩𝘶 𝘒𝘳𝘢𝘵𝘢𝘦 𝘞𝘪𝘭𝘥𝘭𝘪𝘧𝘦 𝘚𝘢𝘯𝘤𝘵𝘶𝘢𝘳𝘺 𝘴𝘵𝘢𝘧𝘧 2775 ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ต่อไป การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชหายากในถิ่นอาศัยจำเพาะของประเทศไทย