• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. เปิดกิจกรรมจิตอาสาแม่ฮ่องสอน ผนึกกำลังรัฐและประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ไฟป่า

ที่โรงเรียนเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน (เทศบาล 3 แผนกประถมศึกษา) ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมจิตอาสา ผนึกกำลังรัฐและประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ไฟป่าแม่ฮ่องสอน โดยมีนายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะผู้บริหาร ทส. หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังเจ้าหน้าที่ภาคสนาม กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และเครือข่ายจิตอาสาภาคประชาชน รวม 600 คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มี มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง สร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชน หน่วยงาน/องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีจิตสำนึกห่วงแหนทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ และตระหนักถึงพิษภัยของไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละออง และปัญหามลพิษทางอากาศจาก P.M. 2.5 และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาด้านการเกษตรและการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าตามแนวทางพระราชดำริ นอกจากนี้ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบเงินสนับสนุนให้กับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.อส.) จำนวน 132 เครือข่าย เครือข่ายละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,600,000 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่อีกด้วย
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในพื้นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเป็นหลัก เช่น การเก็บหาของป่า การล่าสัตว์ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการทำปศุสัตว์ ที่ผ่านมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาชน โดยได้กำหนดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในทุกมิติ 8 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการประชาสัมพันธ์ 2. มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิง 3. มาตรการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และดับไฟ 4. มาตรการเผชิญเหตุในสถานการณ์วิกฤติรุนแรง 5. มาตรการลดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตเมือง 6. มาตรการดูแลสุขภาพของประชาชน 7. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย 8. มาตรการสร้างความยั่งยืน

นอกจากมาตรการหลัก 8 มาตรการแล้ว จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมประชาคมเพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงระดับจังหวัด นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาการทำกินและอยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ป่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ทั้งในป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้โครงการแม่ฮ่องสอนโมเดลเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกิน รวมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด