วันที่ 27 ก.ค.67 พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชน กรณีช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ได้แก่ การสูญเสียทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร หรือบางกรณีรุนแรงถึงเสียชีวิต ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน จึงสั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งหาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่า เช่น การสร้าง“ศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า” เป็นต้น
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้สั่งการให้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ดำเนินการปรับแผนงบประมาณการใช้จ่ายเงินประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อก่อสร้าง “ศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า” ให้เป็นสถานที่รองรับช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นประจำ ที่มีพฤติกรรมที่เกเร หรือมีพฤติกรรมที่เคยทำร้ายประชาชน โดยจะดำเนินการก่อสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า จำนวน 3 แห่ง แห่งละ 1 คอก ประกอบด้วย (1) ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา (2) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี (3) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว
ส่วนรายละเอียด ศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปรับแผนงบประมาณการใช้จ่ายเงินประจำปี พ.ศ. 2567 งบประมาณต่อแห่ง 9,086,134.36 บาท ประกอบด้วย (1) คอกช้างป่า ขนาดกว้าง 50 เมตร ยาว 60 เมตร (2) โรงช้างป่า ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร (3) บ่อน้ำแบบลาดเอียง ขนาด กว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร ซึ่งการก่อสร้างเป็นไปตามหลักวิชาการ และมั่นคงแข็งแรง ถูกสุขลักษณะที่ช้างจะสามารถอาศัยอยู่ได้ตลอดระหว่างการปรับพฤติกรรม
สำหรับศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า ดำเนินตามแบบอย่างจากพลายไข่นุ้ยหรือพลายเจ้างาโมแดล ช้างพลายอายุประมาณ 12 ปี ที่ถูกขับออกจากฝูง และเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ได้นำมาปรับพฤติกรรม ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จังหวัดพังงา ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาช้างป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า และนำช้างป่าพลายไข่นุ้ย ไปปรับพฤติกรรมช้างป่า ณ สถานที่ดังกล่าว