• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย (New record) ชี้มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพ

นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าว “การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทย” ร่วมด้วยทีมนักวิจัย นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัยที่เคยพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดีย ในวันที่ 19 เมษายน 2567 เวลา 11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (H.A. Slade) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพมหานคร
นายทรงเกียรติ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ผึ้งหลวงหิมาลัย หรือ ApislaboriosaSmith, 1871 ที่พบในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณหน้าผาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการพบเจอตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดของตัวผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งหลวงอีกชนิดนอกเหนือจากผึ้งหลวงทั่วไป หรือ Apis dorsataFabricius, 1793 ที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการสร้างรังที่ขนาดใหญ่เป็นคอนเดี่ยว ลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญของผึ้งหลวงหิมาลัย ได้แก่ ปล้องท้องที่มักมีสีดำสนิท และขนรอบบริเวณปล้องอกที่มีสีเหลืองทอง ผึ้งหลวงหิมาลัยสามารถพบในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ <1,000 -4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเลและในพื้นที่มีอากาศเย็น (< 25°C) และยังเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการผู้เลี้ยงผึ้งและศึกษาผึ้งทั่วโลกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศอินเดียและเนปาล มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่มจากผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทยต่อไป
นายทรงเกียรติ กล่าวอีกว่า การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลาย ทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่าง ๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis ชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apiscerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด