• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประชุมหารือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก.ทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ ส.ป.ก.ทับซ้อนป่าอนุรักษ์ ร่วมด้วย นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้บริหารจากส่วนกลาง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขาทั่วประเทศ ผู้อำนวยการส่วนในพื้นที่ และหัวหน้าป่าอนุรักษ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารเอนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวผ่านระบบประชุมออนไลน์ว่า “ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนป่าอย่างเต็มที่ และการดำเนินการหลังจากมี MOU แล้ว ก็ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ประสานงานในระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินแต่ละจังหวัดโดยตรง และเตรียมจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางเพื่อการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆอีกด้วย เพื่อพิจารณาแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาปฏิรูปที่ดินกับแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตป่าอนุรักษ์ ว่าพื้นที่ไหนที่ทับซ้อนหรือไม่ ให้ได้ข้อยุติและกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อนำไปหารือกับส.ป.ก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “ตามที่ท่านอธิบดีกรมอุทยานฯได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้แทนในการดำเนินการของกรมอุทยานฯตาม MOU ฉบับดังกล่าว ก็พร้อมที่จะทำงานนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งต้องดูในทุกมิติ ทั้งด้านพื้นที่และมิติด้านกฎหมาย หากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถูกทำลายไป ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะได้กลับฟื้นคืนมา ดังนั้นจึงพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความถูกต้องอย่างเต็มที่
นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่าต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไรบ้าง หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามใน MOU ที่เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับข้อหารือในที่ประชุม ได้เน้นย้ำกับผู้เข้าประชุม คือ ข้อที่ 2 ของ MOU ที่ต้องจัดทำข้อมูลโดยกรมอุทยานฯได้จำแนกออกมาเป็น 5 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1.จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูปแบบ Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทับซ้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน 2.พื้นที่ควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridor) 3.พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย 4.พื้นที่ที่แนวกันชน 5.พื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งได้มีการมอบหมายให้ผอ.สำนักในส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในแต่ประเด็น โดยมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เพื่อให้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา 30 วัน

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะได้มีการจัดประชุมคณะทำงานของกรมอุทยานฯแห่งชาติกับคณะทำงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อติดตามความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ ตาม MOU ฉบับดังกล่าว ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กทม.

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งสองกระทรวงตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ที่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว หรือคณะอนุกรรมการที่มีการแต่งตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการดังกล่าว และเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูป Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทับช้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรือควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridors) พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่แนวป่ากันซน รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่คาดว่าเป็นปัญหาทับซ้อนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรืออนุรักษ์ไว้โดยไม่จัดสรรให้ประชาชน ภายใน 30 วัน
3.ให้ความร่วมมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนกรมป่าไม้
4.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด