จากปัญหาช้างป่าที่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปัจจุบันส่งผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่งทั่วประเทศ และปัญหาดังกล่าวยังมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและมีความรุนแรงมากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาทวงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้ ร้อยเอก รชฎ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตำบลวังท่าช้าง ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรับฟังข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่า ร่วมกับคณะกลุ่มนักธุรกิจภาคเอกชน เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาสาสมัคร เครือข่ายผลักดันช้างป่า ประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่า ในท้องที่ตำบลวังท่าช้าง ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีนายธานนท์ โสภิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นายเทียนชัย ตรีชิต ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี ผู้แทน กอ.รมน. จังหวัดปราจีนบุรี ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลวังท่าช้าง และผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
ในการนี้ ร้อยเอก รชฎ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำกลุ่มนักธุรกิจภาคเอกชน ลงพื้นที่ บริเวณจุดที่พบช้างป่า และจุดที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ และเตรียมการช่วยเหลือตามความต้องการให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการหาแนวทางในการสร้างกองทุนช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กิจกรรมที่นำเสนอคือการสำรวจสถานที่/พื้นที่สร้างศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาช้างป่า ในพื้นที่ตำบลวังท่าช้าง หรือพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ในลักษณะให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์แล้วส่งต่อไปให้ช้างป่าหรือสัตว์ป่าในพื้นที่ป่า เพื่อให้คน ช้างป่า และสัตว์ป่าสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกันได้ต่อไป
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ช้างป่าตลอดจนลดปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งประกอบไปด้วย การป้องกันและการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ เช่น การจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างกลับคืนสู่ป่า การสร้างคูกันช้างป่า การสร้างรั้วไฟฟ้า การปลูกพืชเพื่อเป็นรั้วธรรมชาติ การศึกษาวิจัยปัจจัยต่างๆ เพื่อเยียวยาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากกรณีช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร และการประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ช้างป่า นอกจากนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติได้อนุมัติใช้เงินอุทยานแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 สนับสนุนเพิ่มการจ้างชุดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่และประจำจุดเสี่ยงที่ช้างป่าออกนอกป่าอนุรักษ์ซึ่งกำลังเกิดผลกระทบกับประชาชนรอบพื้นที่อนุรักษ์อีกด้วย