• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พล.ต.อ.พัชรวาท มอบ ผช.รมว.ทส. ติดตามการแก้ไขปัญหาช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

วันที่ 3 มกราคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อประชุมมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติของศูนย์บัญชาการสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกป่าอนุรักษ์ในพื้นที่วิกฤต ซึ่งประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอุทยานแห่งชาติทับลาน
จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 1 (ปราจีนบุรี) และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) สนธิกำลังร่วมกันจำนวน 200 นาย ร่วมกับ อบต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และเครือข่ายต่างๆรวม 250 นาย เพื่อผลักดันช้างจำนวน 150 ตัว ให้กลับเข้าป่าเขาอ่างฤาไน ปรากฏว่าเมื่อผลักดันช้างกลับเข้าป่าแล้ว ช้างในป่าพยายามออกจากป่าอีก กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้สั่งการให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ จำนวน 100 นาย เพื่อตรึงกำลังรอบๆแนวเขตป่าอ่างฤาไน เป็นการป้องกันมิให้ช้างออกจากป่า ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 66 และกรณีช้างป่าไม่ต่ำกว่า 60 ตัว ออกนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้สนธิกำลังร่วมกันระหว่าง สบอ.1 สบอ.7 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ อำเภอครบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายแก้ไขปัญหาช้างป่า ผู้นำชุมชน ราษฎรตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันผลักดันช้างป่าบริเวณช่องเขาขาด ป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี จนสามารถผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าได้เพียงบางส่วน เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง อาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้าง
โดยวันนี้ (3 ม.ค.67) รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายธานนท์ โสภิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 นายเทียนชัย ตรีชิต ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี และนายอำนวย เกษตรสินธุ์นุกูล นายอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ของ สบอ.1 (ปราจีนบุรี) สบอ.2 (ศรีราชา) เข้าร่วม และบรรยายสรุปสถานการณ์ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนและอุทยานแห่งชาติทับลาน
ต่อมา รอ.รชฏฯ พร้อมด้วยนายอรรถพลฯ ได้ตรวจเยี่ยมกำลังพล มอบนโยบาย ตลอดจนมอบหมายภารกิจ มอบเสบียงอาหารในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งทำพิธีปล่อยเเถวเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ณ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยเป็นการบูรณาการสนธิกำลังร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) 50 นาย สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) 50 นาย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี 30 นาย เพื่อทำการตรึงกำลังผลักดันช้างไม่ให้ออกจากป่าไปจนถึงเดือน เมษายน 2567
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และพื้นที่ใกล้เคียง รวมจำนวน 16 ชุด เพื่อผลักดันช้างป่าเเละเเก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ตามนโยบายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทส. ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สร้างผลกระทบแก่ประชาชน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม โดย นส.แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิฯ ลงนามในบันทึกความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาช้างป่า
ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างคอกบริบาลช้างป่าพลายเจ้างา มูลค่า 5 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จ.พังงา เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลช้างป่าพลายเจ้างาหรือพลายไข่นุ้ย ช้างป่าวัยดื้อที่ออกจากอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี เดินหากินจนถึง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช สร้างความเดือดร้อนและหวาดกลัวต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จับบังคับและควบคุมดูแลอยู่ที่หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช โดยปัจจุบันได้เร่งดำเนินการก่อสร้างคอกบริบาลช้างป่าให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด