รรท. กรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมคณะเดินทางศึกษาดูงานการจัดการสัตว์ป่าและการอนุวัตอนุสัญญา CITES หารือการจัดการสัตว์ป่าจัดการสัตว์ป่าการปรับปรุงกฎหมายสัตว์ป่าและแนวเชื่อมต่อเส้นทางสัตว์ป่าระหว่างแนวชายแดน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยศาสตราจารย์กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการผู้ทรงวุฒิในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและประธานคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรอง ประกอบ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นายจิตรพรต พัฒนสิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรอง ประกอบ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อศึกษาดูงานและร่วมหารือการประสานความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการคุ้มครองจัดการสัตว์ป่าและพืชป่า รวมถึงการอนุวัตการดำเนินงานตามอนุสัญญาไซเตส ระหว่างวันที่ 23 – 26 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ในระหว่างการเยือนฯ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าพบหารือกับนายชูชาติ ชัยกุมาร อธิบดีกรมป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการสัตว์ป่าจัดการสัตว์ป่า และแลกเปลี่ยนความเห็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงกฎหมายสัตว์ป่าของทั้งสองประเทศ ในการกำหนดแนวทางดำเนินงานร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมายการลักลอบค้าสัตว์และแนวเชื่อมต่อเส้นทางสัตว์ป่าระหว่างแนวชายแดน เพื่อดำเนินการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายร่วมกันในอนาคต
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเพื่อการอนุวัติอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES โดยมีกรมประมงและกรมวิชาการเกษตรร่วมดำเนินงานในฐานะหน่วยงานที่ดูแลชนิดพันธุ์ในบัญชี CITES ที่เป็นสัตว์น้ำ และพืช การดำเนินงานอนุรักษ์ในปัจจุบันนี้ ไม่เพียงแต่การดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบข้อกำหนดตามกฎหมายระดับประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังมุ่งหวังการยกระดับมาตรฐานการทำงานให้สอดคล้องในระดับสากลในมิติต่างๆ ประเทศไทยลงนามให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญา CITES เมื่อ ค.ศ. 1982 จึงเป็นเวลา 40 ปี ที่ได้เรียนรู้การดำเนินงานต่าง ๆ ตามกรอบข้อตกลงของอนุสัญญา โดยสิ่งที่สำคัญ คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกฎหมายหลักในการอนุวัติอนุสัญญา CITES ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ กฎหมายนี้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขที่สำคัญมาแล้วถึง 3 ครั้ง และนำมาสู่ฉบับปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ในเรื่องต่างๆ กรณีที่สำคัญที่อยากหยิบยกคือ การปรับปรุงพระราชบัญญัติใน พ.ศ. 2558 เพื่อรองรับการบรรจุช้างแอฟริกาซึ่งเป็นสัตว์ป่าต่างประเทศชนิดแรกที่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และการออกกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติงาช้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย
การค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย มีความเชื่อมโยงหลายกลุ่มคนหรือองค์กรทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ มีการวางแผนการดำเนินงานเป็นขบวนการที่ซับซ้อน ดังนั้น นอกจากความพร้อมของตัวบทกฎหมายแล้ว ความร่วมมือระหว่างกัน เป็นเครื่องมือที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงมีความพยายามที่จะใช้กลไกความร่วมมือมาสร้างความเข้มแข็งด้านบังคับใช้กฎหมายในการปราบปราบการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายนั่นคือ เครือข่ายบังคับใช้กฎหมายในการปราบปราบการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN-WEN ซึ่งได้จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี 2548 ต่อมาใน พ.ศ. 2550 ประเทศไทยได้ใช้กลไกเครือข่ายลักษณะเดียวกันในระดับประเทศ คือ THAILAND-WEN ที่ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรที่สำคัญ เช่น ตำรวจ ศุลกากร หน่วยงานด้านยุติธรรม หน่วยงานการขนส่งต่างๆ ร่วมเป็นกำลังสำคัญเพื่อต่อสู้กับปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย
ไทยและลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันตลอดความยาวลำน้ำโขง ทั้งสองประเทศยังเป็นถิ่นแพร่กระจายของสัตว์ป่าและพืชป่าชนิดร่วมกันเป็นจำนวนมาก ลักษณะและความเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย จึงอาจเป็นปัญหาร่วมหรือมีความคล้ายคลึงกันมาก ตัวอย่างเช่น ประเด็นการลักลอบค้าเสือที่เกี่ยวข้องกับเสือกรงเลี้ยง ทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ และได้รับการตรวจเยี่ยมจากคณะผู้แทนจากสำนักเลขาธิการ CITES ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยอาจต้องถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการ CITES ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ดังนั้น ความร่วมมือเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้จะเป็นการดำเนินการเชิงรุก ซึ่งจะแสดงให้เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของทั้งสองประเทศ ส่วนในบริบทที่กว้างขึ้น การกระชับความร่วมมือระหว่างกันจะทำให้ทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็งในการต่อสู้กับการค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงเป็นการผนึกกำลังระหว่างกันนี้ อาจเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวที CITES ได้ดีขึ้นอีกด้วย ผมจึงใคร่ขอให้รัฐบาลลาวพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าข้ามพรมแดน เพื่อจักนำไปสู่การลงนามและช่วยสนับสนุนการทำงานร่วมกันมีความสอดคล้องและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ในโอกาสการศึกษาดูงานด้านการจัดการสัตว์ป่าและการอนุวัติอนุสัญญา CITES ครั้งนี้ นับเป็นเป็นอีกก้าวเดินที่สำคัญ เป็นการต่อเนื่องการประชุมทวิภาคี ประเทศไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่เพิ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ ผ่านมา ที่จังหวัดหนองคาย และทั้งสองประเทศจะได้ก้าวเดินร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา CITES ร่วมกันต่อไป