• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ เผยสถานการณ์ไฟป่ากาญจนบุรีดีขึ้น เร่งจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

วันที่ 11 มีนาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน และแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า ติดตามการทำงานของชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าในพื้นที่ รวมถึงโครงการฟื้นฟูประชากรวัวแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้มอบนโนบายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปกท.ทส. กำกับ ดูแลทุกหน่วยงานให้มีการทำงานเชิงรุก เน้นการสื่อสาร สร้างความรับรู้ เพื่อความเข้าใจแก่ประชาชน โดยมี นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน ณ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี

โดยสถานการณ์ไฟป่าปัจจุบันพบจุดความร้อน(Hotspot) สะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 6,173 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีจุดความร้อนสูงสุด 5 อันดับแรกของ จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 1,623 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 1,037 จุด อุทยานแห่งชาติไทรโยค 931 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 779 จุด อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 479 จุด ซึ่ง อทช.รรท.อส. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันเข้าดับไฟอย่างเข้มข้นและได้รับการบูรณาการจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมกันในการเข้าควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและยังได้รับการสนับสนุน เฮลิคอปเตอร์จาก กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บินตรวจไฟและดับไฟป่าในพื้นที่ ด้วย

ล่าสุดสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว และยังพบว่าสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการทำฝนเทียม โดยกรมฝนหลวงฯ มีแผนทำฝนเทียมในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีกลับคืนมาดีขึ้น สำหรับสถานการณ์ในภาพรวมพบว่าพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเริ่มมีแนวโน้มที่จะเกิดไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามีสาเหตุจากการเผาเพื่อเก็บหาของป่าและการจุดไฟ กลั่นแกล้ง

ในด้านสถานกาณ์ช้างป่า ขณะนี้มีคณะกรรมการช้างแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแลในภาพรวม 16 กลุ่มป่าทั่วประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ซึ่งได้เตรียมใช้กฏหมายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มาเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงได้ศึกษาถึงการควบคมประชากรช้างร่วมกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) การควบคุมช้างที่มีพฤติกรรมเกเรให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ ส่วนของการท่องเที่ยวทางทะเลได้สั่งกำชับให้ทำความเข้าใจผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ในการจะลงดำน้ำจะต้องมีทักษะเบื้องต้นเพื่อป้องกันความเสียหายของปะการัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด