• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ออกประกาศ 7 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ปี 2566 ยึดหลัก “ทส. หนึ่งเดียว” เน้นการปฏิบัติงานแบบบูรณการ

ไฟป่าเป็นปัญหาใหญ่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ จากข้อมูลการรายงานสาเหตุการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 – 2565 พบว่าไฟป่าทั้งหมดเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ และเผาไร่ มีค่าเฉลี่ยรวมร้อยละ 69.99 ของสาเหตุการเกิดไฟป่าทั้งหมด

นายวราวุธ ศิลปอาซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษและผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด เตรียมรับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ที่คาดว่าจะรุนแรงมากกว่าในปี 2565 เพราะสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแนวโน้มสภาพอากาศแปรปรวน (Climate Change) โดยจะมีความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นจากปรากฏการณ์ “ลานีญา” ที่ลดน้อยลง พร้อมกับกำชับให้ปฏิบัติงานตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ตามกรอบสื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วม ภายใต้ 7 มาตรการ ประกอบด้วย
1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษ ด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)
4. กำกับ ดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

ด้าน นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เน้นย้ำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า โดยให้ยึดหลักนโยบาย “ทส. หนึ่งเดียว” เน้นการปฏิบัติงานแบบบูรณการทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน กำหนดให้จัดทำแนวทางในการป้องกัน รับมือการเกิดไฟป่า และแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าพรุภาคใต้ ตามแนวทางและนโยบายที่ นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบาย “เน้นการป้องกัน เฝ้าระวังและรักษาระดับน้ำ ทำงานแบบมีส่วนร่วม บูรณาการร่วมทุกหน่วยงาน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด