วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ท่าช้าง-ป่าแม่ขนิน เนื้อที่ 141,756.26 ไร่ หรือ 226 ตารางกิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบขาน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 300 – 1,338 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยสังคมป่า 5 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของลุ่มน้ำขาน ประกอบด้วยลำน้ำสาขาจำนวนมาก มีลักษณะเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน
อุทยานแห่งชาติออบขานมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ ได้แก่ ออบขาน ลักษณะทางสัณฐานที่โดดเด่นเป็นช่องแคบ หรือหุบผาหินที่มีขนาดเล็ก ลึก และสูงชัน มีทางน้ำไหลผ่านตลอดปี คล้ายกับกำแพงหินหนาทึบที่ถูกตัดขาดออกจากกัน มีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีไหลลงมาตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ เกิดเป็นหน้าผาแคบและสูงชัน แรงกัดเซาะของสายน้ำที่มาพร้อมกับก้อนกรวดที่คอยขัดสีหินผาเป็นเวลานานทำให้ช่องผาเป็นร่องรอยเว้าแหว่งสวยงามแปลกตา โดยออบขานมีความยาวประมาณ 300 เมตร และความสูงจากระดับน้ำปกติประมาณ 25 เมตร ออบไฮ มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันทั้งสองฝั่งลำน้ำคล้ายออบขานแต่มีขนาดเล็กกว่า ม่อนผาผึ้ง สามารถชมความงดงามของทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกในจุดเดียวกัน ถ้ำตั๊กแตน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม นอกจากนั้นยังมี กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมกางเต็นท์พักแรม
อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบในการกำหนดพื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จึงขอเชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=30684 ระหว่างวันที่ 15-31 ตุลาคม 2565